แม่สะเรียงตั้งอยู่ในลุ่มน้ำยวมตอนล่าง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีลักษณะภูมิประเทศแบบภูเขาและหุบเขา (Ridge and Valley) โดยกลางหุบเขามีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย ได้แก่น้ำแม่สะเรียง ที่ไหลลงมาบรรจบกับน้ำแม่ยวมทางทิศใต้ของเมือง ทำให้มีสภาพเหมาะแก่การอยู่อาศัย และมีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานยาวนานกว่า 500 ปีตั้งแต่ในสมัยล้านนา
ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ส่งผลกระทบกับการลดลงของพื้นที่และกระบวนการในระบบนิเวศของพื้นที่แม่สะเรียงผ่านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างชนบทสู่ความเป็นเมือง นำมาสู่ข้อสังเกตและทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเป็นอยู่ของแม่สะเรียงในอนาคต ดังนั้นโครงการศึกษาและวางผังโครงสร้างภูมินิเวศอำเภอแม่สะเรียง จึงเป็นการศึกษาภูมินิเวศของท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและธรรมชาติภายในหุบเขาแม่สะเรียง เพื่อวางผังโครงสร้างภูมินิเวศให้เมืองแม่สะเรียงและพื้นที่ชนบทรอบ ๆ สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและยังรักษากระบวนการที่เกิดขึ้นในธรรมชาติและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่เอาไว้ได้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งภูมินิเวศและมนุษย์ในหุบเขาแม่สะเรียง
การศึกษาและวางผังภูมินิเวศแม่สะเรียง จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่
- การศึกษาและทำความเข้าใจธรรมชาติของพื้นที่ และการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติในอดีต
- การศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมินิเวศโดยมนุษย์ (Human Impact)
- การออกแบบวางผังเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และธรรมชาติโดยรอบ (Well-being of human and landscape)
เริ่มจากการทำความเข้าใจธรรมชาติของพื้นที่ ภายในแอ่งสะเรียงมีองค์ประกอบทางภูมินิเวศที่หลากหลาย อันประกอบกันเป็นลักษณะกายภาพโดยเฉพาะของแอ่งแม่สะเรียง โดยมีโครงสร้างทางภูมินิเวศที่สำคัญ คือ ภูเขา (Mountain) ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของห้วยต่าง ๆ ที่ไหลผ่านเนินเขา (Foothill) ตะพักลำน้ำ (River Terrace) และพื้นที่ลุ่ม (Lowland) ลงมาบรรจบกับแม่น้ำ (River) ที่กลางแอ่ง
ภายในแอ่งยังมีกระบวนการสำคัญที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีต คือกระบวนการทางอุทกวิทยา (Hydrological Process) กระบวนการทางธรณีวิทยา (Geomorphological Process) และกระบวนการทางชีววิทยา (Biological Process)
ปัจจัยและกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้พื้นที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ เป็นทรัพยากรให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยความหลากหลายของโครงสร้างทางภูมินิเวศทำให้ในแต่ละพื้นที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็นพื้นที่ที่ยังคงเป็นพื้นที่ธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำ และภูเขา กับส่วนที่มนุษย์เข้าเปลี่ยนแปลงเพื่อการดำรงชีพ ได้แก่ พื้นที่ลุ่ม ตะพักลำน้ำ และเนินเขา ที่ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และหมู่บ้าน
ส่วนที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติ คือป่าและแม่น้ำ เป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งน้ำ และทรัพยากรต่าง ๆ หรือเป็นภูมินิเวศที่เป็นแหล่งสร้างทรัพยากร (Source Landscape)
ในส่วนที่เป็นพื้นที่ที่ถูกดัดแปลงโดยมนุษย์ ประกอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรม มีการใช้ทรัพยากรน้ำและแร่ธาตุสารอาหารจากพื้นที่รอบ ๆ แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีบทบาทเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของมนุษย์จึงมีลักษณะเป็นทั้งภูมินิเวศแหล่งสร้างและสะสมทรัพยากร (Source and Sink Landscape) ในขณะที่พื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่ แม้จะมีการปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์บ้าง แต่ยังคงเป็นพื้นที่ซึ่งต้องพึ่งพิงทรัพยากรจากธรรมชาติรอบ ๆ ทำให้มีลักษณะเป็นภูมินิเวศซึ่งบริโภคทรัพยากร (Sink Landscape)
เมื่อเวลาผ่านไป จากการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพื่อการดำรงชีพ เริ่มเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทำให้พลวัตธรรมชาติไม่สามารถดำรงต่อไปได้ดังในอดีต ส่งผลให้ผลผลิตเชิงนิเวศและนิเวศบริการ (Ecosystem Service) ที่มนุษย์เคยได้รับจากธรรมชาติลดลง
จึงมาสู่ขั้นการวางผังที่จะแบ่งออกเป็นการวางผังในระดับทั้งหุบเขาและการวางผังในระดับเมืองแม่สะเรียง
การวางผังในระดับหุบเขาจะเป็นการออกแบบฟื้นฟูให้พลวัตธรรมชาติสามารถกลับมาดำเนินตามเดิมได้ และเป็นฐานที่แข็งแรงให้กับการดำรงชีวิตของมนุษย์
ในส่วนการวางผังระดับเมืองแม่สะเรียง จะเป็นการออกแบบในระดับการใช้ชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้าน (Villager) ผู้มาเยือน (Visitor) และธรรมชาติโดยลอบ
โดยสรุป แม้ว่าในปัจจุบัน มนุษย์จะยังพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำเพื่อการดำรงชีวิต การทำเกษรตกรรม หรือแม้แต่ผลผลิต (Raw materials) ที่หาได้ตามธรรมชาติ แต่กลับไม่มีการตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติเช่นเดียวกับในอดีต การฟื้นฟูธรรมชาติ (Natural Landscape) และการออกแบบตามวิถีธรรมชาติ (Nature-based Design) จะทำให้นิเวศบริการกลับมาอุดสมบูรณ์ แข็งแรงและเป็นฐานที่มั่นคงในการดำรงชีวิต โดยการออกแบบตามวิถีธรรมชาติคือการเสริมสร้างโครงสร้างภูมินิเวศอันประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและสีน้ำเงิน (Blue and Green Infrastructure) เพื่อต่อยอดวิถีชีวิตมนุษย์สู่การดำรงชีวิตภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว ที่มีใจความสำคัญคือการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเสริมสร้างอาชีพสีเขียวให้ชุมชน (Green Economy) เช่น อาชีพเกษตรกรรม ประมงพื้นบ้าน เก็บของป่า การแปรรูปผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน อาชีพค้าขาย เจ้าของโฮมสเตย์ และมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติรอบตัวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สู่การเป็นเมืองเล็กท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของเมืองแม่สะเรียง