เงื่อนไขด้านสภาพพื้นที่โครงการมี 5 ข้อด้วยกัน

1) พื้นที่ถูกแบ่งออกจากกันเป็น 3 ส่วนด้วยถนนทำให้ขาดการเชื่อมต่อของพื้นที่แต่ละส่วน แต่มีข้อดีตรงเข้าถึงง่ายทั้งจากรถส่วนตัว รถสาธารณะ

2) ภายในพื้นที่มีประวัติศาสตร์แกนเดิมที่ การขยายตัวของโรงงานทำให้แกนแรกของโรงงานหายไป

3) ทำให้เห็นแกนกลางหลักที่ต้องคงไว้ของโครงการคือส่วนพิพิธภัณฑ์

4) มุมมองที่ต้องเก็บไว้คือมุมมองที่สามารถมองเข้ามายังส่วนโรงงานแล้วเห็นครบทุกๆอาคารของโรงงานและมุมมองที่มองออกไปได้แบบพาโนรามา

5) เนื่องจากพื้นที่เดิมมีอาคารก่อสร้างอยู่เต็มพื้นที่ ทำให้การออกแบบต้องคำนึงถึงอาคารเดิม หรือบางส่วนของอาคาร ว่ามีความสามารถในการประยุกต์ใช้ต่อหรือไม่
การกำหนดพื้นที่กิจกรรม ได้กำหนดจากการประเมินอาคาร และประเมินการเข้าถึงของผู้ใช้สอย

1) ส่วนสำนักงานประปาสาขาแม้นศรี ที่จะยังเปิดให้บริการสำหรับติดต่อและซ่อมบำรุงอยู่ และส่วนพื้นที่สาธารณะที่ปรับจากโครงสร้างโรงงานเดิม

2) ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้และส่วนสนับสนุน ที่ถูกกำหนดอาคารดั้่งเดิมไว้ เพิ่มด้วยส่วนเรียนรู้นอกห้องเรียน และมีส่วนสนับสนุนที่ปรับเอาอาคารโรงกรองน้ำเดิมที่มีลักษณะภายนอกแบบยุคแรกมาปรับการใช้งานภายในใหม่ให้ทันสมัย  ได้แก่ห้องสมุด พื้นที่ทำงานร่วมกัน พื้นที่นิทรรศการหมุนเวียน โดยส่วนสนับสนุนจะอยู่ติดกับส่วนพิพิธภัณฑ์ เพื่อการไหลเวียนของผู้ใช้สอย

3) ส่วนพื้นที่เช่าและพื้นที่สาธารณะ โดยพื้นที่เช่าตั้งขึ้นมาเพื่อหารายได้ให้กับโครงการ โดยกำหนดให้ใช้อาคารกรองน้ำเดิม และจะมีการเลือกผู้เช่าที่ให้บริการทางด้านสุขภาพ การศึกษา หรือเกี่ยวกับน้ำ เช่น พื้นที่ขายสินค้าเพื่อสุขภาพ ร้านกาแฟ/อาหาร พื้นที่สปาหรือบริการ โรงเรียนสอนดำน้ำ พื้นที่สำหรับสำนักงานให้เช่า  โดยกิจกรรมจะดึงดูดผู้ใช้สอยกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้งานโรงพยาบาล ผู้ที่สนใจด้านสุขภาพ รวมถึงผู้อยู่อาศัยโดยรอบเข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่เดิมคือโรงงานกรองน้ำ ทำหน้าที่กรองน้ำสะอาดให้กับประชาชนได้ใช้อุปโภคและบริโภค ทำให้เกิดแนวคิดในจัดการน้ำโดยเลียนแบบกระบวนการกรองน้ำพื้นที่เดิม

– การเกรอะ/ตกตะกอน        เปรียบเป็นการหน่วงและซับน้ำโดยใช้พื้นที่ซึมน้ำได้

– กรอง                            เปรียบเป็นการกรองและบำบัดโดยใช้พืชพรรณ

– กัก/ขัง                          เปรียบเป็นการกักน้ำโดยใช้โครงสร้างเดิม

โดยนำน้ำจากคลองประปามาผ่านกระบวนการกรองผ่านพืชพรรณ และใช้เพื่อการนันทนาการก่อนจะปล่อยคืนสู่คลองประปา นอกจากนี้จากการออกแบบทำให้เพิ่มพื้นที่กรองน้ำธรรมชาติได้ 7,000 ตารางเมตร เพิ่มพื้นที่ซึมน้ำได้ 37,000 ตารางเมตร เพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำได้ 5,400 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ขังน้ำได้ 7,000 ลูกบาศก์เมตร

ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้การประปาไทย

จากรูปตัด สะพานวนรอบประติมากรรมหยดน้ำขนาดใหญ่ ที่สื่อถึงองค์กรเจ้าของโครงการ โดยจะเป็นภาพจำใหม่ของโครงการ เมื่อลงมาจะเจอน้ำพุที่ส่วนหนึ่งเกิดจากจากสะสมน้ำบนหลังคาเขียว เพื่อสื่อถึงภาพลักษณ์ขององค์กรณ์ที่ผลิตน้ำใสสะอาดเพื่อประชาชนมาเป็นเวลากว่า 107 ปี จากสภาพพื้นที่เดิมเป็นที่เก็บน้ำสะอาดใต้ดินที่มีโครงสร้างแข็งแรง จำนวน 2 ถัง จึงปรับให้เป็นพื้นที่จอดรถสำหรับผู้มาใช้งานพิพิธภัณฑ์ ด้านบนคลุมด้วยหลังคาเขียว ที่ค่อย ๆ ไล่ระดับเป็นคลื่นลงมาจนถึงลานข้างหน้าพิพิธภัณฑ์ โดยตัวหลังคาทำหน้าที่สะสมและชะลอน้ำสำหรับน้ำพุนั่นเอง จากทัศนียภาพจะเห็นมุมมองใหม่ ที่สามารถเห็นสะพานและประติมากรรมที่จะเป็นภาพจำหลัก และเห็นอาคารประวัติศาสตร์ของโครงการได้ครบทั้งหมด บรรยากาศจะได้ยินเสียงน้ำจากน้ำพุ ที่จะเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศให้ในพื้นที่ลานแตกต่างจากถนนที่ล้อมอยู่โดยรอบ ผู้ใช้งานหลักที่เข้ามาบริเวณนี้คือ กลุ่มนักเรียนที่ลงมาจากสะพานเพื่อผ่านจุดนี้เข้าไปส่วนสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ฯ และผู้อยู่อาศัยรอบ ๆ โครงการที่จะมาเพื่อสัญจรผ่านสะพานไปยังพื้นที่นันทนาการอีกฝั่ง

ส่วนห้องเรียนประปา

เป็นส่วนที่เสริมจากส่วนพิพิธภัณฑ์เดิม โดยเริ่มจากการแบ่งทางสัญจรรถยนต์ออกจากแกนทางเข้าเดิม ให้แกนทางเข้าเดิมเป็นเฉพาะทางสัญจรเท้า ดัดแปลงอาคารให้เป็นส่วนต้อนรับด้านหน้า และเดินชมนิทรรศการเป็นวงบรรจบ เรียงตามกระบวนการการผลิตน้ำ ส่วนการจัดแสดงภายนอก ห้องเรียนประปา (Water Classroom) พื้นที่เดิมเป็นอาคารโรงงานผลิตน้ำสามเสน 4 ทั้งหมด ทำการรื้อถอนอาคารออก จากประวัติศาสตร์ของพื้นที่ จึงเกิดการออกแบบโดยรื้อฟื้นแกนเดิมที่มีลักษณะเป็นแกนสมมาตรแบบฝรั่งเศส โดยต่อทางสัญจรออกมาตามผังเดิม  ผสานกับการใช้งานใหม่ ซึ่งมีลักษณะเส้นสายน้ำเป็นเส้นสายธรรมชาติ ทำให้ได้เกิดพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์เดิมจากรูปตัด น้ำที่นำมาใช้เป็นน้ำที่ผ่านการกรองโดยพืชพรรณบริเวณคูทิ้งตะกอนเดิม และที่อยู่บนโครงสร้างบ่อตกตะกอน ผ่านห้องเรียนรู้แรกคือ ห้องทดลองน้ำ (Water Lab) ในส่วนนี้ผู้ใช้ที่อยู่ในวัยเด็กจะได้เรียนรู้จักคุณลักษณะของน้ำ น้ำกับแรงโน้มถ่วงลักษณะการไหลผ่านก๊อกโบราณที่มีทิ้งอยู่ภายในพื้นที่ ทำให้ได้ใช้กล้ามเนื้อในการหมุนเพือเปิดปิดก๊อก ต่อมาส่วนโซดาดึง ที่ผู้ใช้งานจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านที่จ่ายน้ำแบบแรกของประเทศไทย ทำให้เกิดการทดลองเปิดปิด สัมผัสประสบการณ์การใช้น้ำแบบเมื่อ 100 ปีก่อน สุดท้าย คีตวารี (Water Music) ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างเสียงผ่านสายน้ำ ผ่านท่อที่เหลืออยู่ภายในพื้นที่ โดยท่อที่สูงต่ำไม่เท่ากันก่อให้เกิดเสียงแตกต่างกัน ผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์ผ่านการเล่นจริง ทดลองจริง ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบ Active learning ทั้งยังได้รับประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ โดยน้ำทั้งหมดเมื่อผ่านการเล่นแล้วจะถูกปล่อยลงคลองสามเสน

ส่วนพื้นที่สาธารณะ พื้นที่เดิมเป็นที่เก็บน้ำใต้ดินที่โครงสร้างมีความแข็งแรง ทำการทุบด้านบนออกให้เหลือแต่เสาที่มีลักษณะเป็นกริด ผสานกับสะพานทางสัญจรหลักหลัก ที่เมื่อเดินเข้ามา ปลายสายตาจะเป็นจุดชมน้ำพุดึงดูดสายตา แบ่งทางเดินออกเป็น 2 เส้นทาง คือทางหลักที่จะระดับสูงขึ้นเชื่อมไปยังฝั่งพิพิธภัณฑ์ และทางที่ลาดลงนำไปสู่พื้นที่เช่า เช่า ตัวสะพานพาดผ่านพื้นที่ก่อให้เกิดพื้นที่ที่แตกต่างกันได้แก่ ส่วนแรกเรือนวารีที่จะเป็นพื้นที่นันทนาการหลัก โดยใช้น้ำปล่อยลงมาสำหรับสร้างบรรยากาศนันทนาการ ออกแบบให้น้ำและพืชพรรณเป็นรูปร่างธรรมชาติซึ่งจะแตกต่างกับเสาที่เป็นกริด  ส่วนที่สองลานฉายวารี เป็นพื้นที่กึ่งร่มที่ด้านบนเป็นกระจกใสมีน้ำหล่อ ก่อให้เกิดเงาน้ำสะท้อนลงบนพื้น ส่วนสุดท้ายคือส่วนกันชน ที่ใช้ต้นไม้กั้นเสียงที่มาจากถนนและทางด่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงน้ำภายในสวนลดระดับได้ชัดเจนมากขึ้น จากการรื้อพื้นด้านบนของที่เก็บน้ำออก ทำให้ได้พื้นที่ลดระดับลงไปกว่า 3 เมตร ทำให้เกิดพื้นที่โอบล้อม และยังใช้ประโยชน์จากโครงสร้างเสาคานเดิมในการวางสะพาน นอกจากนี้น้ำที่ใช้เกิดจากการกรองโดยพืช ผ่านโครงสร้างโรงงานเดิมที่ถูกดัดแปลง วัสดุในส่วนนี้จะให้เป็นคอนกรีตดั้งเดิมที่อยู่ในที่กักน้ำ มีการใช้พืชพรรณเลื้อยขึ้นไปเกาะบนเสาบางช่วงเพื่อลดทอนความแข็งกระด้างของโครงสร้าง ใช้คงหลังคาคอนกรีตเดิมบางส่วนสร้างร่มเงาในพื้นที่และปลูกพืชพรรณข้างบนเพื่อลดทอนความแข็ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลดระดับเกิดการโอบล้อม เสียงน้ำที่เกิดจะมีความชัดเจนขึ้น น้ำที่ไหล สำหรับเด็กที่ใช้ในการเล่นอย่างอิสระ และสำหรับผู้สูงอายุมาเดินเพื่อให้น้ำกระตุ้นประสาทสัมผัสในการรับรู้

ตัวโครงการตอบสนองต่อจุดประสงค์ ก่อให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ใหม่สำหรับเมืองและประเทศ  เพิ่มพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพให้กับพื้นที่โดยรอบอีก 66 ไร่ พื้นที่กรองน้ำธรรมชาติ 7,000 ตารางเมตร พื้นที่ซึมน้ำ 37,000 ตารางเมตร พื้นที่หน่วงน้ำ 5,400 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่กักน้ำ 7,000 ลูกบาศก์เมตร