โจทย์ทางสังคมในปัจจุบันคือ “การสร้างรูปแบบการพัฒนาชุมชนพักอาศัยซึ่งสามารถรองรับการตั้งถิ่นฐานในระยะยาวอย่างมีคุณภาพเพื่อลดความเปราะบางทางสังคมและสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน”
ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง 2 ประเด็นสำคัญ ที่กำลังสร้างความเปราะบางแก่สังคมของเราใน 2 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นที่ 1 ด้านการอยู่อาศัยที่กำลังเข้าสู่ยุคของการอยู่อาศัยทางตั้งและเป็นรูปแบบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต มาพร้อมกับแนวโน้มการเช่าที่อยู่อาศัยตลอดชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเกิดปรากฎการณ์ NOMAD RESIDENT หรือการที่คนย้ายที่อยู่อาศัยไปเรื่อย ๆ ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง เพราะพื้นที่เดียวไม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยในระยะยาวได้
ประเด็นที่ 2 ด้านชุมชนเปราะบาง ที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยในสภาพแวดล้อมเก่า ขาดการฟื้นฟู คนย้ายออก ขาดการถ่ายทอดความเป็นชุมชนไปสู่บริบทใหม่
โดยความเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ประเด็นนี้ได้สร้างผลกระทบเป็นความเปราะบางทางสังคมใน 3 ระดับ ตั้งแต่ความเปราะบางทางใจที่จะเกิดขึ้นกับ Nomad Resident ซึ่งขาด Sense of belonging ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในขณะที่ชุมชนเดิมจะขาดสเถียรภาพในการรักษาอัตลักษณ์และพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น จนอาจนำไปสู่การล่มสลายของชุมชน ด้านอสังหาริมทรัพย์ เมื่อคนเช่ารอย้าย คอนโดยิ่งเก่ายิ่งถูกทิ้ง อนาคตอาจเกิดคอนโดฯเก่าล้นผลกระทบเพิ่ม กลายเป็นความเปราะบางต่อการพัฒนาเมืองในที่สุด
จึงนำมาสู่การสร้างกรอบแนวคิดในการพัฒนาชุมชนพักอาศัยแบบลงหลักปักฐาน เพื่อแก้โจทย์ทางสังคมในปัจจุบัน
แนวคิดการพัฒนาชุมชนพักอาศัยแบบลงหลักปักฐาน รูปแบบการพัฒนาชุมชนพักอาศัยแบบลงหลักปักฐาน หรือ Rooted community แนวคิดที่ทำให้คนอยากและอยู่อาศัยในระยะยาวได้อย่างมีคุณภาพ เกิดความผูกพันเป็นเจ้าของร่วมกับชุมชน และร่วมสืบสานพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต
แนวคิดการพัฒนาเครือข่ายสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย หรือ Living Environment Network Development ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่รองรับการใช้ชีวิตในระยะยาว และสานกันเป็นเครือข่าย ผ่านการใช้งานร่วมกันของผู้คน ซึ่งนำไปสู่ Network ทางสังคมที่มีมูลค่า อันประกอบไปด้วย
1)ที่อยู่อาศัย ที่มีความหลากหลาย
2) ที่ทำงานและเรียนรู้ เพื่อต่อยอดความสร้างสรรค์และนำสู่มูลค่าที่สูงขึ้น
3) การบริการ ที่สะดวกมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีตอบโจทย์คนทุกวัย
4) พับบลิกสเปซ ที่ทำให้คนใช้ชีวิตที่ได้อย่างปลอดภัยและสุขภาวะดี
5) พื้นที่ทางวัฒนธรรม สร้างความจรรโลงใจ และนำไปสู่การสืบสานเลกาซี่สู่อนาคต
ในการพัฒนา 5 องค์ประกอบสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย จำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อมกับการสร้าง Sense of Belonging ซึ่งมี 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การสร้างอัตลักษณ์และความทรงจำ รวมถึงการทำให้ประชาชนมีบทบาททางสังคมระหว่างกันในแต่ละพื้นที่
การพัฒนาองค์ประกอบสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยของตลาดพลูแบ่งออกเป็น 3 ห่วงโซ่การพัฒนา (Chained Development) ตามกลยุทธ์สำคัญเพื่อสร้างการพัฒนาทีละส่วนเพื่อสร้างความต้องการและแรงขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายหลัก โดยเป็นการพัฒนาทีละขั้นตอนตามเงื่อนไข และเป็นการสร้างรูปแบบการพัฒนาร่วมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกร่วมกัน โดยประกอบไปด้วย
Chained Development 1: ต่อยอดวัฒนธรรมอาหาร สร้างฐานให้แข็งแรง เป็นการเริ่มต้นการพัฒนาพื้นที่ด้วยฐานรากเดิมด้านอาหารย่านตลาดพลู ด้วยการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ตลาด ถนนและทางเท้า ให้พร้อมรองรับการใช้ชีวิตควบคู่วัฒนธรรมอาหาร และให้ธุรกิจชุมชนสามารถพัฒนาต่อไปได้ โดยมีองค์ประกอบการพัฒนาดังนี้
- การปรับปรุงตลาด 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดวัดกลาง ตลาดรัชดาภิเษก และศูนย์อาหารตลาดพลู
- การปรับปรุงถนน ทางเท้า และสตรีทเฟอร์นิเจอร์ ด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางวัฒนธรรมอาหาร (Food Corridor) เน้นเส้นทางสำคัญภายในย่านและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน รวมถึงการรักษาต่อยอดวัฒนธรรมอาหารและการค้าของย่าน
- ส่งเสริมการจัดเทศกาลในย่านตลาดพลู ทั้งเทศกาลดั้งเดิมในพื้นที่ และเทศกาลอาหารตลาดพลูในรูปแบบใหม่ผ่านการพัฒนาตลาดและเส้นทางอาหาร (Food Corridor)
สร้างจุดเด่นภาพจำให้ตลาด สร้างบทบาทผู้ร่วมสืบทอดวัฒนธรรมอาหารตลาดพลู
Chained Development 2: เสริมบริการบนฐานวัฒนธรรม รองรับคนทุกวัย การพัฒนาเพื่อสร้างความน่าดึงดูดในการอยู่อาศัยในระยะยาวแก่ประชาชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ โดยการนำมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่มาพัฒนาเป็นบริการหรือ Local Service Network เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยทุกเพศทุกวัย ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก มีประสิทธิภาพ และสานต่อมรดกวัฒนธรรมของย่านไปในตัว ซึ่งประกอบด้วยการบริการด้านพื้นที่ทำงานและเรียนรู้สร้างสรรค์ ด้านการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตระหว่างวัย และด้านการกิจกรรมการออกกำลังกายของคนทุกวัย โดยมีองค์ประกอบการพัฒนาดังนี้
1. การปรับปรุงโรงเจเซี่ยงเข้งตึ้งบริเวณส่วนที่ไม่ได้ใช้งานแล้วเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการดูแลคุณภาพชีวิตระหว่างวัย หรือ Intergeneration Center และเชื่อมโยงพื้นที่กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เป็นจุดเรียนรู้เชิงปฏิบัติและเชิงวัฒนธรรมให้กับเด็ก
2. การปรับปรุงโรงสีง่วนลีล้งให้เป็นศูนย์กลางพื้นที่ทำงาน เรียนรู้ และลงมือทำ สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้ใช้งาน เพื่อสร้างเครือข่ายทางสังคมและต่อยอดโอกาสอย่างสร้างสรรค์
3. การปรับปรุงลานกีฬาใต้ทางยกระดับถนนรัชดาภิเษก ให้เป็นสนามเด็กเล่นและพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับคน 3 วัย เพื่อให้เกิดการร่วมกันดูแลความปลอดภัยให้แก่เด็ก
ฟื้นฟูอาคารและสถานที่เก่าไปสู่บริบทใหม่ ให้บทบาทของการดูแลซึ่งกันและกัน
Chained Development 3: ปลูกบ้านใหม่ในย่านเรา
เมื่อมีองค์ประกอบทางกายภาพที่พร้อมรองรับการใช้ชีวิตในระยะยาว และมีความต้องการการอยู่อาศัยในย่านเพิ่มขึ้น พร้อมกับปลูกความรู้สึกผูกพันเป็นเจ้าของร่วมให้กับผู้อยู่อาศัยแล้ว จึงสร้างรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในบริบทของย่านตลาดพลู ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการพัฒนารถไฟสายสีแดงเข้ม และช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่เริ่มสร้างครอบครัว จึงพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีหลากหลายรูปแบบ พร้อมรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยเดิม
ด้วยกลไกในการพัฒนาปรับปรุงกายภาพพื้นที่ด้วยเครื่องมือรูปแบบภาษา (Pattern Language) ที่ถอดมาจากเอกลักษณ์ของย่านเพื่อนำไปพัฒนาต่อด้วยรูปแบบเครื่องมือการพัฒนาร่วม (Co-development) เพื่อให้เกิดเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ มีพื้นที่สาธารณะเพื่อการทำกิจกรรมพักผ่อนและกิจกรรมทางวัฒนธรรม รักษาอัตลักษณ์ของย่านพร้อมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัยย่านตลาดพลู
โดยจากรูปแบบการพัฒนาที่เป็นไปได้ 5 รูปแบบ วิทยานิพนธ์นี้ได้นำเสนอตัวอย่างการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัย 4 ขนาด 4 รูปแบบการพัฒนา ประกอบด้วย
- โครงการปรับปรุงตึกแถวเก่าเป็นที่อยู่อาศัยร่วมเพื่อรองรับกิจกรรมแบบสร้างสรรค์
- โครงการปรับปรุงพื้นที่และอาคารรอบสถานีรถไฟตลาดพลูเป็นที่อยู่อาศัยผสมผสานรองรับการพัฒนารถไฟสายสีแดงเข้ม
- โครงการปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมเป็นที่อยู่อาศัยผสมผสาน ชุมชนริมรางรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมวัฒนธรรมอาหารย่านตลาดพลู
- โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยความหนาแน่นสูงแบบผสมผสานการใช้งาน (High Rise & Mixed-use Building)
พัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ในรูปแบบการมีพื้นที่กึ่งสาธารณะเพื่อกิจกรรมทางวัฒนธรรม ขับเน้นเอกลักษณ์ของย่านในบริบทใหม่
เมื่อพัฒนาย่านตลาดพลูครบทั้ง 3 ห่วงโซ่การพัฒนาตามลำดับขั้นและเงื่อนไขการสร้างความต้องการ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาร่วมกันทุกภาคส่วนภายใต้กลยุทธ์แบบกินร่วม จะทำให้ย่านตลาดพลูมีองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่สมบูรณ์ เกิดเครือข่ายทางสังคมที่มีมูลค่า บนความหลากหลายของผู้คนผ่านการใช้งานพื้นที่ร่วมกัน ทำให้ชุมชนมีการสืบสานมรดกวัฒรธรรมไปสู่อนาคต และการทำให้คนลงหลักปักฐานปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยได้ตามความต้องการที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงชีวิตในย่านเดียว ทำให้อสังหาริมทรัพย์จะมีมูลค่าต่อไปอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่สร้างความเข้มแข็งจากภายในโดยแท้จริง