จากสภาพพื้นที่ที่มีผืนป่าเดิมโดยรอบโครงการ ซึ่งถูกตัดขาดจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และมีการปรับพื้นที่เป็นขั้นบันไดในบริเวณที่มีความลาดชันเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากปัญหาดินถล่ม จึงทำให้พื้นที่โครงการมีศักยภาพในการเป็นพื้นที่เชื่อมต่อผืนป่าโดยรอบ ให้มีความต่อเนื่องกัน รวมถึงช่วยฟื้นฟูป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามระบบธรรมชาติเดิม นอกจากนี้ การดำเนินการเกษตรจะแก้ปัญหาพื้นที่เกษตรที่กระจัดกระจาย ให้รวมเป็นพื้นที่ที่ชัดเจน และ เหมาะสมกับการทำเกษตรในรูปแบบที่ยั่งยืน ร่วมไปกับการนำเสนอเอกลักษณ์ของพื้นที่เดิมเพื่อเป็นจุดขายให้กับโครงการ รวมถึงสามารถใช้พื้นที่ในการทำเกษตรได้เต็มประสิทธิภาพ และไม่เป็นการใช้แรงงานคนที่มากโดยไม่จำเป็น ซึ่งทั้งนี้อาศัยหลักการของป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ที่เอื้อประโยชน์แก่ทั้งการดำรงชีวิตของคนและธรรมชาติ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อยู่สมดุล เป็นไปตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุมและเป็นระบบ
การบริหารโครงการโดยใช้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ร่วมไปกับส่วนประกอบโครงการที่ส่งเสริมทั้งด้านอาชีพและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศและประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากระบบนิเวศธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงเอื้อประโยชน์แก่มนุษย์เท่านั้น แต่เอื้อประโยชน์ให้กับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติไปพร้อมกัน และเมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์เข้ากับส่วนประกอบของโครงการ จึงเกิดเป็นการผสานระหว่างการทำเกษตรยั่งยืนร่วมไปกับการเป็นสถานพักตากอากาศที่ส่งเสริมอาชีพและวัฒนธรรมชุมชน นอกจากการพัฒนาภายในพื้นที่โครงการแล้ว โครงการสามารถส่งเสริมให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชน ซึ่งจะทำให้พื้นที่โดยรอบโครงการเกิดความสมดุลกับระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของผู้คนในพื้นที่ต่อไปในอนาคต บนพื้นฐานทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
จากเงื่อนไขและศักยภาพของพื้นที่โครงการ ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นการเกษตรที่เน้นการปลูกไม้ต้นเชิงเศรษฐกิจ โดยมีพื้นที่ป่าบริเวณข้างเคียง ประกอบกับแนวความคิดในการบริหารโครงการ ที่ต้องการสร้างสมดุลระหว่างการดำรงอยู่ของระบบนิเวศและการดำเนินชีวิตของผู้คนบนพื้นฐานแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การออกแบบวางผังโครงการจึงพัฒนาพื้นที่การเกษตรให้สอดคล้องไปกับแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนโดยมีไม้ต้นเชิงเศรษฐกิจของจังหวัดระนองเป็นหลัก และสอดแทรกพื้นที่กิจกรรมของสถานพักตากอากาศให้สอดคล้องไปกับการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อส่งเสริมอาชีพ และวัฒนธรรมของชุมชนไปพร้อมกับการสร้างบรรยากาศให้กับพื้นที่โครงการ ซึ่งจากเดิมพื้นที่เกษตรกรรมมีความกระจัดกระจาย ทำให้ตัดขาดพื้นที่ป่าในบริเวณข้างเคียง จึงวางแนวคิดเพื่อเชื่อมต่อผืนป่าให้เกิดความต่อเนื่อง ร่วมไปกับการรวมพื้นที่เกษตรกรรมแต่ละรูปแบบให้มีความชัดเจน และสอดคล้องกับการออกแบบพื้นที่กิจกรรมรองรับการท่องเที่ยวตามลักษณะของพื้นที่
ในช่วงการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน การวางระบบทางสัญจรใหม่เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่การเกษตรแต่ละรูปแบบ และเข้าถึงพื้นที่กิจกรรมต่างๆ ภายในโครงการ ยังคงเชื่อมต่อจากทางเข้าหลักเดิมของพื้นที่โครงการ แต่หลังจากมีการพัฒนาพื้นที่รองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นที่เรียบร้อย ทางเข้าหลักของโครงการทั้งส่วนการเกษตรและการรองรับการท่องเที่ยว จะถูกรวมเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่รับส่ง – พื้นที่จอดรถของโครงการ เพื่อการควบคุมความปลอดภัยในพื้นที่โครงการ และสร้างบรรยากาศที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ตั้งแต่ภายนอกโครงการสู่ภายในพื้นที่โครงการ
พื้นที่บริเวณส่วนหน้าของโครงการ เป็นพื้นที่เชื่อมต่อจากบริบทภายนอกเข้าสู่โครงการ โดยระบบวนเกษตรยางพาราที่ปลูกร่วมกับไผ่ซางหม่น (Dendrocalamus sericeus) ทำหน้าที่สร้างบรรยากาศภายในโครงการให้ดูสอดคล้องไปกับผืนป่าไผ่บริเวณพื้นที่ฝั่งตรงข้ามของโครงการ
การเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนเริ่มต้นตั้งแต่พื้นที่ทางเข้าโครงการ โดยมีการสร้างพื้นที่รักษาความปลอดภัย (Guard House) ร่วมไปกับการเป็นจุดพักคอยสำหรับชาวบ้านในช่วงเวลาที่ฝนตก ซึ่งเชื่อมต่อออกสู่ทางเดินซึ่งปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น กระดาด (Alocasia macrorrhizos) เตยหอม (Pandanus amaryllifolius) และผักชีล้อม (Foeniculum vulgare) รวมถึงใช้วัสดุตั้งต้นในการสร้างสรรค์โครงสร้างไผ่ซางหม่น และที่นั่งไม้ยางพารา สำหรับพื้นที่พักคอยนี้
ศาลาพักคอยรถรับส่งในโครงการ (Pick Up Pavilion) มีบรรยากาศเป็นสวนมะพร้าวผสมผสานการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมต่อกับพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้ (Learning Zone) ซึ่งประกอบไปด้วย ศาลาเรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ (Organic Pavilion) ศาลาเรียนรู้การทำเชื้อเพลิงไบโอดีเซล (Biodiesel Pavilion) และศาลาเรียนรู้กระบวนการเผาถ่าน (Coal Burning Pavilion) และรวมถึงบรรยากาศพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่วนเกษตรยางพาราที่เชื่อมต่อเส้นทางบริเวณพื้นที่จอดรถ (Parking) เข้าสู่พื้นที่กิจกรรมชุมชน (Community Zone) ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่คาเฟ่ (Café) พื้นที่ตลาด (Market) และพื้นที่นั่งพักอัธยาศัย (Seating Pavilion) โดยในช่วงฤดูแล้ง (Andaman High Season) เป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การทำกิจกรรมเก็บเมล็ดกาแฟ เนื่องจากต้นยางพาราจะผลัดใบในช่วงเดียวกัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่โปร่ง ตรงกันข้ามกับช่วงฤดูฝน (Andaman Low Season) จะช่วยเป็นร่มเงาป้องกันแดดและฝน นอกจากจะให้ประโยชน์ในการเกิดกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลายแล้ว ยังช่วยให้เกิดบรรยากาศที่หลากหลายด้วยเช่นกัน
บรรยากาศพื้นที่รักษาความปลอดภัยบรรยากาศพื้นที่รักษาความปลอดภัย
บรรยากาศพื้นที่สวนมะพร้าวผสมผสานการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ
บรรยากาศพื้นที่ศาลาพักคอยรถรับส่งในโครงการ
บรรยากาศพื้นที่ภายในศาลาพักคอยรถรับส่งในโครงการ
บรรยากาศพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่วนเกษตรยางพารา
บรรยากาศพื้นที่ทางเดินตลาดชุมชน
บรรยากาศพื้นที่นั่งพักตามอัธยาศัย
พื้นที่อำนวยความสะดวกส่วนกลางเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้ (Learning Zone) และพื้นที่กิจกรรมชุมชน (Community Zone) กับพื้นที่ส่วนบ้านพักตากอากาศ โดยมีพื้นที่อัฒจันทร์ (Event Amphitheater) เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชนและเทศกาลของโครงการ อยู่ระหว่างพื้นที่วนเกษตรหมากสง ซึ่งปลูกหมากสงร่วมกับกล้วยป่า (Musa acuminata) กระชาย (Boesenbergia rotunda) เป็นต้น และ พื้นที่สวนมะพร้าวผสมผสาน ให้บรรยากาศเกิดความกลมกลืน
พื้นที่ระเบียงเชื่อมต่อกับพื้นที่โถงต้อนรับ เป็นจุดเปลี่ยนระดับ เข้าสู่พื้นที่บ้านพักตากอากาศ โดยพื้นที่เก็บน้ำมีการปลูกพืชชายน้ำเพื่อการเกษตร เช่น ผักเอื้อง (Persicaria orientalis) สันตะวาใบพาย (Ottelia alismoides) ให้บรรยากาศที่สงบร่มเย็น สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ในบริเวณนี้ พื้นที่โถงต้อนรับเชื่อมต่อกับพื้นที่ร้านอาหารที่เปลี่ยนระดับลงสู่พื้นที่รับประทานอาหารกึ่งภายนอก (Semi – Outdoor Dining) มีการใช้วัสดุเสริมจากการแปรรูปไม้ปาล์มน้ำมัน สำหรับตกแต่งบริเวณฐานเสาเลียนแบบลักษณะของต้นปาล์ม อีกทั้งยังมีการแปรรูปน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา สำหรับใช้ในพื้นที่พักผ่อนส่วนต่างๆของโครงการ
บรรยากาศจากทางเข้าพื้นที่อัฒจันทร์
บรรยากาศพื้นที่ระเบียงเชื่อมต่อโถงต้อนรับ
บรรยากาศพื้นที่รับประทานอาหารกึ่งภายนอก
บรรยากาศพื้นที่พักผ่อนส่วนกลาง
พื้นที่บริเวณบ้านพักตากอากาศในพื้นที่วนเกษตรเชิงเศรษฐกิจปลูกไม้ต้นและไม้ผลเชิงเศรษฐกิจร่วมกัน โดยตัวอย่างไม้ต้นเชิงเศรษฐกิจที่อยู่ในสังคมพืชป่าดิบแล้ง เช่น ยางนา (Dipterocarpus alatus) มะค่าโมง (Afzelia xylocarpa) ตะเทียนทอง (Hopea odorata) เป็นต้น ซึ่งนอกจากสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการคืนที่อยู่อาศัยของนกอพยพ ที่อาศัยยอดไม้เป็นพื้นที่ทำรังอีกด้วย
กลุ่มบ้านพักในบริเวณนี้ ถูกเชื่อมต่อด้วยพื้นที่นั่งเล่นกึ่งภายนอก (Semi – Outdoor Living) ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ศาลารอบกองไฟ (Camping Pavilion) ในบริเวณ Open Space ของพื้นที่วนเกษตร ซึ่งมีบรรยากาศเป็นป่าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปลูกร่วมกับ กล้วยป่า (Musa acuminata) กระทือ (Zingiber zerumbet) กลอย (Dioscorea hispida) เป็นพืชชั้นล่างเลียนแบบโครงสร้างพืชธรรมชาติ
รูปตัดบริเวณบ้านพักตากอากาศในพื้นที่วนเกษตรเชิงเศรษฐกิจ
บรรยากาศพื้นที่นั่งเล่นบริเวณบ้านพักตากอากาศในพื้นที่วนเกษตรเชิงเศรษฐกิจ
บรรยากาศบริเวณบ้านพักตากอากาศในพื้นที่วนเกษตรเชิงเศรษฐกิจ
พื้นที่บริเวณบ้านพักตากอากาศในพื้นที่ฟื้นฟูป่าดิบแล้งเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อผืนป่าเดิมที่ถูกตัดขาด จากภายนอกสู่ภายในโครงการ โดยกลุ่มบ้านบริเวณนี้เลือกใช้พืชพรรณที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ป่าดิบแล้งในบริเวณนี้ เช่น ค้อ สมพง ยมหิน ตาเสือ เป็นต้น เพื่อสร้างแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยให้กับนกอพยพ รวมถึงปลูกพืชชั้นล่าง เช่น กล้วยป่า (Musa acuminata) เร่ว (Amomum villosum) เปราะป่า (Kaempferia marginata) เพื่อสร้างศาลารอบกองไฟในบรรยากาศป่าดิบแล้ง ที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเชื่อมต่อผู้เข้าพักออกจากกลุ่มบ้านพัก ให้สามารถสัมผัสกับบรรยากาศของธรรมชาติที่สมบูรณ์ของพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น
รูปตัดบริเวณบ้านพักตากอากาศในพื้นที่ฟื้นฟูป่าดิบแล้ง
บรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นบริเวณศาลารอบกองไฟในพื้นที่ฟื้นฟูป่าดิบแล้ง
โครงการวิทยานิพนธ์นี้ ต้องการชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาโดยใช้แนวความคิดในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจเท่านั้น มาสู่รูปแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ ร่วมไปกับการทำกิจการการท่องเที่ยวบนรากฐานการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อการพัฒนาบนรากฐานเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบความสัมพันธ์ที่ดีจากในระดับจุลภาคสู่ระดับมหภาค