มุมมองภายนอก (Exterior)
บริเวณทางเข้าสู่อาคารเป็นจุดแรกที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนภายนอกอาคารให้เข้ามาสู่โครงการ โดยเนื่องจากอาคารเดิมมีความโดดเด่นเนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารราชการสำคัญเดิม จึงมีการออกแบบการห่อหุ้มอาคาร โดยยังคงให้มองเห็นตัวอาคารเดิมอยู่ โดยเอียงส่วนหน้าเล็กน้อยตามแนวถนน เพื่อรับสายตาจากมุมมองการเข้าถึงที่มาจากบริเวณด้านซ้ายของอาคารและเปิดส่วนทางเข้าให้มีความต้อนรับคนภายนอก โดยวัสดุที่ใช้ในการห่อหุ้มอาคารนี้เป็นเหล็กเจาะรูทำสีน้ำตาล โดยมีความถี่ – ห่างของรูที่เจาะแตกต่างกันไปตามช่วงที่มีการตั้งโครงเป็นระยะโดยมีรูปแบบสอดคล้องไปกับช่วงเสา ซึ่งการใช้เหล็กเจาะรูทำให้คนภายนอกเมื่อมองเข้ามาเห็นอาคารซึ่งห่อหุ้มทำให้มีรูปทรงที่ดูทันสมัย แต่ยังคงเห็นรูปลักษณ์ความเป็นอาคารจั่วของอาคารเดิมรางๆ ได้
แนวคิดการออกแบบ
แนวความคิดในการจัดวางพื้นที่การใช้งานภายในให้มีความต่อเนื่องกัน และเชื่อมโยงกันผ่านการให้ความรู้และการสร้างแรงบันดาลใจ โดยจะมีการกำหนดเส้นทางการเข้าใช้งานพื้นที่ภายในอาคาร คือ
          – ส่วนแรกเป็นการให้ผู้เข้าชมได้เห็นและเข้าใจถึงสิ่งดั้งเดิม หรือพื้นฐานของงานหัตถกรรมท้องถิ่นทั้งสามอย่างของจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ การทอผ้า จักสานหวาย และการทำเครื่องเงิน โดยมีการจัดแสดงวัสดุที่เป็นของดั้งเดิม (Raw material) ไม่ว่าจะเป็นเส้นหวายก่อนที่จะนำมาสาน งานจักสานพื้นฐาน หรือแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น กระสวยทอผ้า เส้นไหมก่อนการย้อม หรือก่อนการทอ รวมถึงอุปกรณ์และแม่แบบในการหลอมเครื่องเงิน 
          – ส่วนถัดมาจะเป็นการแสดงให้ผู้เข้าชมได้เห็นถึงกระบวนการในการพัฒนาสินค้าหัตถกรรมดั้งเดิม โดยการใช้เทคโนโลยีและการออกแบบ ซึ่งอาจจะมีการร่วมมือกับนักออกแบบหรือคนในชุมชนหัตถกรรมอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการจัดแสดงโดยมีการหมุนเวียนไปตามในแต่ละช่วงที่มีการพัฒนาและผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และมีส่วนจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขั้นตอนการพัฒนาที่ผ่านมาข้างต้น ทั้งยังได้เลือกซื้อ เกิดการซื้อขาย และมีการติดต่อ แลกเปลี่ยนทางธุรกิจได้
          – เมื่อผู้ชมได้เห็นขั้นตอนการพัฒนาและทดลองใช้ผลิตภัณฑ์แล้ว หากสนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมเวิรค์ชอปภายในโครงการเพื่อทดลองทำด้วยตนเองได้
ผังพื้นชั้น 1
ผังพื้นชั้น 2
ผังพื้นชั้น 3
ส่วนต้อนรับ (Reception)
ส่วนจัดแสดงวัสดุ (Raw material display)

ส่วนจัดแสดงวัสดุท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งมีความต่อเนื่องกับส่วนเก็บวัสดุบริเวณชั้น 1 โดยมีชั้นจัดแสดงที่เชื่อมระหว่างทั้งสองชั้น รวมถึงยังมีส่วนที่ให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ผ่านการทดลองร้อยเส้นเชือกในระนาบที่มีการเตรียมไว้ ทำให้เข้าใจหลักการพื้นฐานในการถักทอได้ ซึ่งระนาบในการร้อยเรียงที่มีจะไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ในพื้นที่นี้จะมีพื้นที่พักคอยเป็นระยะ เป็นม้านั่งหรือชุดเก้าอี้ ให้ผู้ชมได้นั่งพักจากการรับชม หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้

 

ส่วนแสดงการออกแบบและผลิตภัณฑ์ (Design process and product display)

พื้นที่จัดแสดงนี้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสิ่งของที่จัดแสดงในแต่ละช่วง จึงมีการจัดพื้นที่เป็นระบบตามแนวคานไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานให้สามารถปรับได้หลากหลาย โดยเลือกใช้วัสดุภายในให้มีความแตกต่าง (Contrast) เพื่อแสดงถึงการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาพัฒนาด้วยความรู้สมัยใหม่และเกิดเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่มากขึ้น

 

คาเฟ่ (Cafe)

พื้นที่ต่อเนื่องมาจากพื้นที่ส่วนต้อนรับ ทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ต่างๆเข้าด้วยกัน และเป็นพื้นที่สำหรับพักคอยหลังจากรับชมสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายในโครงการ รวมถึงกิจกรรมเวิร์คชอป การตกแต่งในส่วนนี้จึงมีความเชื่อมโยงกับส่วนต้อนรับ และมีการใช้รูปแบบการขัดไม้ในการจัดแสดงสินค้าและของที่ระลึก

พื้นที่พักคอย (Pre function)
ห้องสัมมนา 50 ที่นั่ง (Seminar)

ออกแบบให้มีความเรียบง่าย วัสดุที่เลือกใช้เป็นวัสดุที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนกิจกรรมได้หลากหลายตามความเหมาะสม และมีการนำแนวความคิดเข้ามาใช้ในลักษณะของการใช้เส้นสายในการตกแต่ง ลดทอนความสานเพื่อให้ไม่แย่งความสนใจเพื่อมีการจัดกิจกรรม

ทางเดินเชื่อมอาคาร

พื้นที่เชื่อมระหว่างอาคารทั้งสอง มีการต่อเติมหลังคาด้วยวัสดุใสเพื่อให้แสงธรรมชาติลงมายังพื้นที่ได้มาก และมีการจัดพื้นที่สวนเพื่อกั้นพื้นที่ใช้งานในส่วนเวิร์คชอปที่ต้องมีการติดต่อเพื่อจองก่อนเข้าใช้งาน รวมถึงพื้นที่สำหรับลูกค้าสมาชิก และมีการให้ข้อมูลถึงกิจกรรมที่น่าสนใจในพื้นที่ต่างๆในส่วนนี้

ส่วนทำเวิร์คชอปย้อมผ้า

พื้นที่ทำกิจกรรมเวิร์คชอปทอผ้าซึ่งอยู่ภายนอกอาคาร และเป็นการเชื่อมพื้นที่ระหว่างอาคารส่วนหน้าและอาคารส่วนหลัง มีการออกแบบการเชื่อมพื้นที่ด้วยการใช้ไม้พาดเชื่อมซึ่งได้แนวคิดมาจากการพาดไม้ของชุมชนเพื่อตากเส้นไหมหลังการย้อม

ห้องเวิร์คชอป (Workshop)

พื้นที่ทำกิจกรรมเวิร์คชอป สามารถรองรับการทำกิจกรรมได้ครั้งละ 12-16 คน / ห้อง ซึ่งส่วนนี้สามารถจัดกิจกรรมทั่วไปที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทาง จึงใช้เครื่องเรือนลอยตัวเป็นหลักเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น

ส่วนจัดเก็บวัสดุ (Raw material storage)

พื้นที่นี้เชื่อมต่อกับพื้นที่จัดแสดงวัสดุ (Raw material display storage) ซึ่งอยู่บริเวณชั้น 2 ทำให้ผู้ใช้งานทั้งสองพื้นที่สามารถมองเห็นกันและกันได้ ผู้ใช้งานที่อยู่บริเวณชั้น 2 เห็นถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ว่ามีการนำวัสดุไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการทำเวิร์คชอปต่างๆ โดยพื้นที่นี้เชื่อมต่อกับพื้นที่ทำเวิร์คชอป เพื่อความสะดวกในการใช้งานพื้นที่

 

พื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านธุรกิจและการออกแบบ

พื้นที่พัฒนาสินค้า (Makerspace)

ทางโครงการจะมีการจัดเตรียมอุปกรณ์เฉพาะสำหรับใช้ในการพัฒนา ทั้งอุปกรณ์เฉพาะทาง เช่น กี่ทอผ้ารูปแบบต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีอื่นๆ และมีพื้นที่สำหรับทดลอง สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความเหมาะสม สามารถใช้พื้นที่ใหญ่ และแบ่งเป็นพื้นที่ย่อยได้ รวมถึงมีการเปิดพื้นที่ในระนาบตั้ง เผื่อการทำงานทอที่ต้องใช้พื้นที่ทางตั้ง และเป็นการเชื่อมกับพื้นที่ใช้งานในชั้นสอง

พื้นที่ส่วนให้บริการความรู้ (Resource Center)

ส่วนให้บริการเพื่อรองรับการทำงาน พูดคุยทางด้านธุรกิจ จึงออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับนั่งทำงาน และห้องประชุม รวมถึงโซนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้านต่างๆ จัดไว้ให้ โดยพื้นที่ส่วนบริการความรู้จะมีความเชื่อมโยงกับส่วนจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภายในโครงการ หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง