PROJECT BACKGROUND
ที่มาของโครงการ จากการเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตศิลาดล อันเกิดจากฝีมือของช่างปั้น และตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นทางด้านงานศิลปหัตถกรรมอันหลากหลาย ศิลาดลก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง และทางแบรนด์สยามศิลาดล ถือได้ว่าเป็นแบรนด์ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตศิลาดลมาเป็นระยะเวลานาน ทางผู้จัดทำจึงมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในอันช่วยเสริมสร้างให้ที่ สยาม ศิลาดล แห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านศิลาดลที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้มารู้จัก เยี่ยมชม และใช้งานศิลาดลของไทย
PROGRAM
จากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร เป้าหมายขององค์กร จุดเด่นในผลิตภัณฑ์ขององค์กร พื้นที่สถาปัตยกรรม และกลุ่มเป้าหมายของโครงการจึงเสนอให้มีการพัฒนาโครงการไปในรูปแบบของจัดทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านศิลาดล โดยการเป็นพื้นที่แห่งการเผยแผ่วัฒนธรรมสยามศิลาดล ทำให้คนที่มาที่นี่ได้รับรู้ เข้าใจและสร้างให้เห็นถึงคุณค่าของงานศิลาดลผ่านงานสถาปัตยกรรมที่ช่วยส่งเสริม
รูปแบบของกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในโครงการจึงมีที่มามาจากการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็คือนักท่องเที่ยว และกลุ่มที่ชื่นชอบในถ้วยชามเซรามิก สรุปได้ว่า มีความสนใจในงานศิลปะ หัตถกรรม วัฒนธรรมพื้นถิ่น และชื่นชอบรวมกลุ่มกันเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านเครื่องถ้วยชามจึงนำเสนอพื้นที่กิจกรรมที่ตอบโจทย์ต่อพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายดังนี้
- พิพิธภัณฑ์และการชมกระบวนการผลิต – เพื่อให้คนภายนอกได้เข้าใจและรู้จักสยามศิลาดลมากขึ้น เห็นทุกกระบวนการผลิตที่สะท้อนคุณค่าของงานศิลาดล
- โชว์รูมและแกลอรี่ – พื้นที่จำหน่ายสินค้าที่มีทั้งสินค้าเน้นการใช้งาน และ สินค้าที่เป็นงานศิลปะมูลค่าสูง
- ร้านอาหารและร้านน้ำชา – ทำให้คนได้สัมผัสประสบการณ์การใช้งานศิลาดลในรูปแบบของวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร
- ศิลาดลเวิร์คชอป – ช่วยส่งเสริมให้งานศิลาดลเกิดการพัฒนาและต่อยอด และเป็นแนวทางในการผลิตงานศิลาดลร่วมสมัยต่อไป
- ส่วนธุรกิจ – มีห้องประชุมสำหรับให้คำปรึกษาทางด้านการสั่งสินค้า การสัมมนาให้ความรู้ และ พื้นที่รับรองสำหรับลูกค้าคนสำคัญทั้งรายใหญ่และรายย่อย
DESIGN APPROACH
จากการวิเคราะห์ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งการเสนอแนะโปรแกรมกิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ และการจัดวางพื้นที่ของอาคารเดิม ทางผู้จัดทำจึงมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงพื้นที่ทั้งสองส่วนนี้เข้าด้วยกันในเชิงงานออกแบบสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมภายใน และทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่สร้างกิจกรรมที่จะดึงดูดให้คนมาเที่ยวที่สถานที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนจัดแสดงงานศิลาดล การเยี่ยมชมกระบวนการผลิต ร้านอาหาร ร้านน้ำชา รวมถึงเวิร์คชอป พื้นที่ต่างๆเหล่านี้ได้ถูกออกแบบให้เชื่อมโยง และผสมผสานกันกับพื้นที่ของโรงงาน แต่ยังคงความเป็นพื้นที่ทำงานโดยพนักงานไม่ได้ถูกรบกวนจากคนภายนอกมากนัก
โดยความตั้งใจในการเชื่อมโยงพื้นที่ทั้งสองส่วนนี้เข้าด้วยกันนั้น มีที่มาของแนวคิดในการออกแบบคือ
การแปรเปลี่ยนของดิน
ในการแปรเปลี่ยนของดินที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอน พนักงานหรือช่างศิลปินเป็นผู้กระทำ ‘ ดิน’ เพื่อให้แปรเปลี่ยนไปตามขั้นตอนตั้งแต่ ดินที่เป็นเศษผง อัดนวดจนเป็นก้อน ปั้นขึ้นรูปจนเป็นทรง แข็งตัว และเผาเคลือบจนมีลวดลายสีสันที่สวยงาม พื้นที่แห่งการแสดงออกในแต่ละขั้นตอนนั้นมีเสน่ห์และน่าสนใจ ซึ่งจะทำให้คนภายนอกได้มาสัมผัสถึงประสบการณ์และรับรู้ถึง ‘การแปรเปลี่ยนของดิน’ ที่เกิดขึ้น ผ่านงานออกแบบ
จากแนวคิดการแปรเปลี่ยนของดิน จึงถูกนำมาตีความในเชิงสถาปัตยกรรม โดยการสร้างเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ในเรื่องของ พื้นผิวของดิน ที่แปรเปลี่ยนไปตามกระบวนการนั้นๆ และทำหน้าที่ในการที่จะเป็นตัวนำทางเล่าเรื่องราวความเป็นไปของศิลาดลที่เกิดขึ้นแก่ผู้เข้าชม ณ สถานที่แห่งนี้ โดยการนำมาขยายสัดส่วนเป็นสัดส่วนของงานสถาปัตยกรรมแล้วประกอบเป็นที่ว่างสำหรับการชมแต่ละกระบวนการผลิตนั้นๆ โดยการแปรเปลี่ยนของดินนั้นจะถูกนำมาเรียบเรียงให้สอดคล้องตามทางเดินชมและกระบวนการผลิตนั้นๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงความแปรเปลี่ยนไปของดินอย่างถ่องแท้
PLANNING AND LAYOUT
DESIGN
พิพิธภัณฑ์และทัวร์ชมการผลิต
ในส่วนของพื้นที่พิพธภัณฑ์และการชมทัวร์โรงงานผลิตนั้น แบ่งออกเป็น 5 ส่วนด้วยกันได้แก่
- บทนำ
- การเตรียมวัตถุดิบ
- การขึ้นรูป
- การเคลือบ
- การเผา
ซึ่งทางสัญจรของคนภายนอกเป็นไปตามลำดับขั้นตอนการผลิตตามดังผังที่แสดง โดยการจัดวางเส้นทางสัญจรของคนภายนอกถูกจัดวางให้อยู่บริเวณกลางโครงการเป็นหลัก แล้วทางสัญจรของพนักงานโรงงานอยู่ทางกรอบนอกของโครงการทำให้เกิดการจำแนกประเภทคนใช้งานอย่างชัดเจนและสร้างความปลอดภัยภายในโรงงานมากขึ้น
1.INTRODUCTION < บทนำ>
ห้องชมวิดีทัศน์เล่าที่มาและประวัติของสยามศิลาดลตั้งแต่ก่อตั้งจนประสบความสำเร็จมาร่วมกว่า 40 ปี
เมื่อผู้ชมเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเปิดม่านออกแล้วเห็นกับ FACADE ด้านนอก ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ของแสงตกกระทบกับผนังศิลาดล
2. CLAY PREPARATION <ส่วนเตรียมวัตถุดิบ>
3. FORMING AND CARVING <ส่วนการขึ้นรูป>
4.FIRING AND GLAZING <ส่วนเคลือบและเผา>
ส่วนบริการอื่นๆ
สุดท้ายนี้ หวังว่าวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะเป็นแนวทางเสนอแนะต่อโครงการอื่นๆที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆในการเข้าชมนี้ซึ่งมองว่าในไทยยังมีไม่มากนัก อีกทั้งสร้างแรงบันดาลใจต่อผู้อ่าน รวมถึงการทำให้คนภายนอกมองภาพลักษณ์ของงานศิลาดลในแง่มุมต่างๆ สร้างให้เห็นถึงคุณค่าของงานศิลาดล ส่งเสริมต่อยอดงานให้พัฒนาต่อไป สร้างชื่อเสียงให้กับงานเซรามิกของไทยเพิ่มขึ้น และเติบโตไปในระดับสากล หากมีข้อผิดพลาดประการใดทางด้านข้อมูล ทางผู้จัดทำขอประทานอภัยมา ณ ที่นี่ด้วย และหากมีคำติชมใดๆ ทางผู้จัดทำยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกท่านเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาตนเองต่อไป ขอบคุณค่ะ