อุทยานแห่งชาติภูลังกา มีธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีความเชื่อต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับสภาพของพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือความเชื่อพญานาคซึ่งเป็นความเชื่อที่ขับเน้นและถ่ายทอดออกมาทางวิถีชีวิตของชาวอีสานได้อย่างดี ซึ่งทำให้เห็นคุณค่าที่สัมพันธ์และเกื้อกูลกันของพื้นที่ในเชิงนิเวศวิทยาและเชิงสังคม
โครงการนี้เป็นการออกแบบพัฒนาบนพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่ระดับผังแม่บทบริหารจัดการ จุดบริการนักท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของอุทยานฯ ซึ่งในการออกแบบในแต่ละประเภทและแต่ละบริเวณมีข้อจำกัดและความเปราะบางของพื้นที่แตกต่างกัน จึงออกแบบให้มีความหลากหลายของการใช้งานตามความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่นั้น ๆ
โครงการนี้ประกอบไปด้วยการเสนอแนะผังการบริหารจุดการพื้นที่ของอุทยานฯ และการออกแบบจุดบริการนักท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยว และบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยเสนอแนะการกำหนดขอบเขตพื้นที่ และกิจกรรมภายในเขตพื้นที่นั้น ๆ รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวและจุดบริการนักท่องเที่ยวทั้งหมด 3 จุด เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่แตกต่างกัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ฯ นอกจากนี้ยังออกแบบรายละเอียดในแต่ละจุดท่องเที่ยว เพื่อควบคุมการใช้งานและลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวในบริเวณนั้น ๆ
1. จุดบริการนาคา มีเอกลักษณ์ในด้านธรณีวิทยาของถ้ำนาคาและหินต่างๆ น้ำตกตาดวิมาณทิพย์และด้านวัฒนธรรม ความเชื่อเรื่องพญานาค อีกทั้งยังติดกับพื้นที่สำนักสงฆ์ฐิติสารารามที่มีอยู่เดิม โดยจุดบริการนี้ มีเป้าหมายในการรองรับผู้ใช้งานจากเดิมประมาณ 117 คน/รอบ/วัน เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 535 คน/รอบ/วัน จากจำนวนมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่สามารถควบคุมและดูแลนักท่องเที่ยวได้
2. จุดบริการพระธาตุภูลังกา มีเอกลักษณ์ในด้านการท่องเที่ยวชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตกในบริเวณเจดีย์กองข้าวฯ ซึ่งยังเป็นจุดตั้งแคมป์และจุดสักการะของนักท่องเที่ยวและคนพื้นถิ่น จึงกำหนดให้เป็นจุดลงทะเบียนการตั้งแคมป์ของอุทยานฯ และสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้ที่มาพักค้างแรมของอุทยานฯ โดยมีเป้าหมายในการรองรับผู้ใช้งานจากเดิมประมาณ 28 คน/รอบ/วัน เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 169 คน/รอบ/วัน
3. จุดบริการน้ำตกตาดกินรี มีเอกลักษณ์ในด้านความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ภูลังกา หินรูปร่างต่าง ๆ และน้ำตกตาดกินรี รวมทั้งจุดบริการนี้ยังติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยสานและวัดป่ากินรี โดยจุดบริการนี้มีเป้าหมายในการรองรับผู้ใช้งานจากเดิมประมาณ 20 คน/รอบ/วัน เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 171 คน/รอบ/วัน
จากการพัฒนาโครงการทั้งหมดในทุก ๆ ระดับ ทำให้เกิดอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวถ้ำนาคาและอุทยานแห่งชาติภูลังกา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานฯ ที่มีเอกลักษณ์ในระดับประเทศที่เชื่อมต่อกับการท่องเที่ยวของภูมิภาค และสอดคล้องกับจุดประสงค์ของอุทยานฯ ในด้านการอนุรักษ์ รวมถึงทำให้เกิดการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติภูลังกาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนสืบไป