พื้นที่โครงการอยู่ในลุ่มแม่น้ำแม่รำพัน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มแม่น้ำยมครอบคลุมจังหวัดสุโขทัย โดยคลองแม่รำพันมีความยาวประมาณ 70 กิโลเมตรตั้งแต่บริเวณอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย และอำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ส่วนหนึ่งของพื้นที่ตัวอย่างของโครงการจะอยู่ในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยจนถึงบ้านวังหาด ประกอบด้วยชุมชน 3 ตำบลคือ ตำบลเมืองเก่า ตำบลตลิ่งชัน และตำบลบ้านด่าน มีการใช้ที่ดินเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนรอบ ๆ คลองแม่รำพัน มีพื้นที่เกษตรประกอบด้วยนาข้าวและพืชสวนผสม โดยจะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว

 

แนวคิดในการออกแบบผังระดับลุ่มน้ำ ในการออกแบบผังระดับลุ่มน้ำสำหรับพื้นที่คลองแม่รำพันที่ทําการศึกษา คือฟื้นฟูคลองแม่รำพันผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและโครงสร้างพื้นฐานสีฟ้า นอกเหนือจากการใช้แนวคิดของโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในการเชื่อมโยงโครงข่ายพื้นที่สีเขียวของคลองแม่รำพันตามวัตถุประสงค์หลักในการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่และเชื่อมโยงมนุษย์ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหลากหลายจากการเรียนรู้และประสบการณ์ในการเข้าใจกับธรรมชาติ ซึ่งการเชื่อมโยงกับมนุษย์ก็จะมีในหลากหลายมิติด้วยกัน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

การออกแบบในระดับลุ่มน้ำโดยรวมจะฟื้นฟูความต่อเนื่องเชื่อมต่อของแม่น้ำทั้งสาย โดยจะจัดการพื้นที่ตามลักษณะที่แตกต่างเพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูส่วนอื่น ๆ ต่อไป พื้นที่ในการฟื้นฟูแม่น้ำก็จะปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะความแตกต่างของแม่น้ำทั้ง 3 ลักษณะ ซึ่งการจัดการในแต่ละพื้นที่จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันในด้านของรายละเอียดของแต่ละจุด

แนวความคิดในการออกแบบการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ

การฟื้นฟูลำน้ำในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำก็จะแบ่งเป็นการฟื้นฟูระบบของลำน้ำหลักและลำน้ำย่อย ซึ่งการฟื้นฟูลำน้ำหลักนั้นจะมีแนวคิดหลักสำหรับการฟื้นฟูกระบวนการทางธรรมชาติต่าง ๆ ตั้งแต่กระบวนการพัดพาตะกอน กระบวนการพลวัตของน้ำในคลองแม่รำพัน และความต่อเนื่องเชื่อมต่อภายในลำน้ำ

ซึ่งแนวทางการจัดการหลักก็จะเกี่ยวข้องกับการนำโครงสร้างที่ขวางการเกิดกระบวนการทางธรรมชาติออกไป หรือเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโครงสร้างให้สามารถเอื้อต่อการใช้งานแต่ยังคงเกิดกระบวนการการไหลของน้ำได้โดยปกติ ในด้านของอ่างเก็บน้ำคลองแม่รำพัน อ่างเก็บน้ำนี้สามารถเก็บน้ำได้เพียงร้อยละ 60 จากปริมาตรทั้งหมดที่สามารถเก็บได้ ดังนั้นการปล่อยน้ำในช่วงหน้าน้ำฝนย่อมไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณการเก็บน้ำและกระบวนการการไหลของน้ำนั้นยังมีได้เหมือนเดิม ทำให้พื้นที่บริเวณกลางน้ำและปลายน้ำได้รับน้ำที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต นอกเหนือจากการปล่อยน้ำในอ่างเก็บน้ำตามช่วงฤดูกาลแล้วก็จะรวมไปถึงการปรับตะกอนที่ทับถมอยู่ภายในอ่างเก็บน้ำ โดยนำตะกอนที่ค้างอยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำออกและปล่อยให้ตะกอนทับถมตามธรรมชาติในบริเวณพื้นที่คลองแม่รำพัน ซึ่งก็จะต่อเนื่องไปยังการขุดคันดินในบริเวณที่ถมออก เพื่อปรับดินในท้องน้ำของแม่รำพันใหม่ โดยในบริเวณท้องน้ำในช่วงต้นน้ำก็จะประกอบไปด้วยตะกอนดินและหินกรวดแม่น้ำขนาดใหญ่เนื่องจากขนาดและน้ำหนักทำให้ตกตะกอนเร็วกว่าอนุภาคของตะกอนที่มีความละเอียดกว่า ดังนั้นการปรับระบบการไหลก็จะทำให้ตะกอนชนิดเดิมในแม่น้ำกลับมาส่งผลถึงโครงสร้างของแม่น้ำที่จะเหมือนเดิมมากขึ้นด้วย ผลที่ได้จากการจัดการเหล่านี้ก็จะทำให้พื้นกลางน้ำและปลายน้ำได้รับน้ำจากคลองแม่รำพันตามพลวัต มีการส่งผ่านตะกอนที่รวมถึงแร่ธาตุ สารอาหารที่มากับตะกอนทำให้พื้นที่ปลายน้ำมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

พื้นที่ต้นน้ำของคลองแม่รำพันประกอบไปด้วยคลองแม่รำพัน พื้นที่ป่าต้นน้ำ และชุมชน ซึ่งชุมชนที่อยู่ในบริเวณนี้ก็คือชุมชนบ้านวังหาดที่เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่อพยพมายังพื้นที่นี้เนื่องจากเหตุผลทางด้านทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ โดยชุมชนบ้านวังหาดมีความสัมพันธ์กับคลองแม่รำพันในมิติของความเป็นอยู่ทั้งการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน การเกษตร รวมไปถึงความสัมพันธ์ในมิติทางด้านจิตวิญญาณที่จะมีประเพณีที่สำคัญในชุมชนเพื่อเชื่อมต่อกับผืนป่าและคลองแม่รำพัน

การฟื้นฟูคลองแม่รำพันและการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวให้กับชุมชนจะเชื่อมความสัมพันธ์ของการถ่ายทอดพลังงานทางนิเวศวิทยา รวมถึงความเชื่อมต่อระหว่างชุมชนบ้านวังหาดกับคลองแม่รำพันด้วยการเคลื่อนไหวทางด้านสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ชุมชนบ้านวังหาดกับคลองแม่รำพัน

ในพื้นที่แรกที่ชุมชนเชื่อมต่อกับคลองแม่รำพันคือบริเวณศาลปู่ห่มขาว ซึ่งมีตาน้ำเชื่อมไปยังคลองแม่รำพัน เป็นบริเวณที่แสดงถึงความเชื่อ ศรัทธา และเคารพคลองแม่รำพัน ดังนั้นบริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred space) จะแยกออกจากพื้นที่บ้านพักอาศัยด้วยแนวต้นไม้กันชน รวมถึงปรับปรุงศาลเก่าในบริเวณตาน้ำเพื่อการปฏิบัติพิธีกรรมการแสดงความเคารพพ่อปู่ห่มขาว โดยแนวหินตัดตามความลาดชันจะเป็นบริเวณที่กำหนดขอบเขตพื้นที่การใช้งาน ในการประกอบพิธีสามารถปรับเปลี่ยนไปตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยจะลาดลงไปตามระดับความสูงและความชันของพื้นที่ทั้ง 2 แนวแกนให้สามารถเป็นเส้นทางในการลงไปใช้ประโยชน์ในบริเวณพื้นที่ริมคลองแม่รำพัน ทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวันหรือในด้านนันทนาการภายในชุมชน อีกทั้งยังใช้เป็นแนวทางในการแบ่งลำดับศักดิ์เพื่อแสดงความสำคัญของพื้นที่การใช้งานตั้งแต่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไปยังพื้นที่กิจกรรมมนุษย์

 

ในด้านของประวัติศาสตร์ พื้นที่บ้านวังหาดมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคหินใหม่ซึ่งในบริเวณนี้เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณคดีและพื้นที่หลุมขุดของชุมชน ดังนั้นในบริเวณพื้นที่ระหว่างพิพิธภัณฑ์กับวัดก็จะมีการออกแบบพื้นที่ลานกิจกรรมที่รองรับการเคลื่อนที่ของกิจกรรมของทั้ง 2 ทางเข้าให้สามารถรองรับกิจกรรมของชาวบ้านสามารถประกอบพิธีกรรมของวัดและกิจกรรมของนักท่องเที่ยวที่มาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเชื่อมไปยังอาคารต่าง ๆ ที่อยู่รอบบริเวณหลุมขุดในลักษณะเส้นทางวนเพื่อการเข้าถึงในแต่ละอาคารได้อย่างเป็นระบบและศึกษาเป็นเรื่องราว

 

แนวความคิดในการออกแบบฟื้นฟูพื้นที่กลางน้ำ

การฟื้นฟูลำน้ำในบริเวณพื้นที่กลางน้ำก็จะแบ่งเป็นการฟื้นฟูระบบของลำน้ำหลักและลำน้ำย่อย ซึ่งการฟื้นฟูลำน้ำหลักนั้นจะมีแนวคิดหลักสำหรับการฟื้นฟูกระบวนการทางธรรมชาติต่าง ๆ ตั้งแต่กระบวนการพัดพาตะกอน กระบวนการพลวัตของน้ำในคลองแม่รำพัน และความต่อเนื่องเชื่อมต่อภายในลำน้ำ

ซึ่งแนวทางการจัดการหลักในบริเวณพื้นที่กลางน้ำก็จะเกี่ยวข้องกับการนำโครงสร้างที่ขวางการเกิดกระบวนการทางธรรมชาติออกไป หรือเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโครงสร้างให้สามารถเอื้อต่อการใช้งานแต่ยังคงเกิดกระบวนการการไหลของน้ำได้โดยปกติ โดยบริเวณนี้เป็นสังคมเกษตรกรรม มีพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นนาข้าวสูงสุดเมื่อเทียบกับพื้นที่บริเวณอื่น ดังนั้นการจัดการของโครงสร้างในแม่น้ำบริเวณคลองแม่รำพันในพื้นที่กลางน้ำก็จะต้องคำนึงถึงการจัดการน้ำหรือการกักเก็บน้ำฝนที่เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่เกษตรกรรมตามฤดูกาลและไม่ส่งผลกระทบต่อพลวัตของน้ำที่เกิดขึ้นภายในคลองแม่รำพัน การจัดการน้ำในอดีตของพื้นที่กลางน้ำนี้ก็มีการจัดการทำเหมืองฝายและการสร้างแก่งหินที่มีลักษณะตามธรรมชาติเพื่อทดน้ำมาใช้เท่าที่จำเป็นทำให้ยังสามารถรักษาระบบการไหลของน้ำในคลองแม่รำพันได้อยู่ ซึ่งก็จะต่อเนื่องไปยังการขุดคันดินในบริเวณที่ถมออกไม่ว่าจะถมเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยล้ำลงมาในแม่น้ำหรือถมเพื่อป้องกันน้ำท่วมตามพลวัตปกติ เพื่อปรับดินในท้องน้ำของแม่รำพันรวมถึงดินในบริเวณพื้นที่รอบข้างใหม่ โดยในบริเวณท้องน้ำในช่วงกลางน้ำก็จะประกอบไปด้วยตะกอนดินและหินกรวดแม่น้ำขนาดกลางซึ่งมีความแตกต่างกับในบริเวณต้นน้ำที่จะมีขนาดที่ใหญ่และอนุภาคหยาบกว่า ดังนั้นในบริเวณนี้ก็จะมีการตกตะตอนของตะกอนละเอียดมากขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญในพื้นที่เกษตรกรรมทั้งนาข้าวและพืชสวน การปรับระบบการไหลก็จะทำให้ตะกอนชนิดเดิมในแม่น้ำกลับมาส่งผลถึงโครงสร้างของแม่น้ำที่จะกลับมาโดยเฉพาะบริเวณหาดแม่น้ำ ผลที่ได้จากการจัดการเหล่านี้ก็จะทำให้วงจรน้ำท่วมหรือชีพจรน้ำท่วมในบริเวณนี้กลับมา มีการส่งผ่านตะกอนที่รวมถึงแร่ธาตุ สารอาหารที่มากับตะกอนทำให้พื้นที่นาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรมพืชสวนมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

พื้นที่กลางน้ำของคลองแม่รำพัน มีพื้นที่เกษตรกรรมมากที่สุด ซึ่งการฟื้นฟูคลองแม่รำพันจะช่วยในการส่งเสริมกิจกรรมการเกษตรภายในชุมชน โดยพื้นที่ตัวอย่างของพื้นที่กลางน้ำคือบ้านวังแดดที่เป็นชุมชนเก่าแก่อยู่ริมคลองแม่รำพันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่านให้กับเมืองเก่าสุโขทัย มีสังคมเกษตรกรรมตามเส้นทางการค้าตลอดแนวคลองแม่รำพัน บ้านวังแดดแสดงถึงมิติทางด้านความเป็นอยู่ที่มีความสัมพันธ์กับคลองแม่รำพันที่จะใช้นิเวศบริการที่ได้จากคลองแม่รำพันในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่กับวิถีชีวิตบนพื้นที่นาข้าว ดังนั้นเมื่อฟื้นฟูคลองและนำฝายคอนกรีตออก เปลี่ยนเป็นแก่งหินที่นำน้ำมาใช้เท่าที่จำเป็น ทำให้ยังรักษาพลวัตของน้ำได้อยู่

 

แนวความคิดในการออกแบบฟื้นฟูพื้นที่ปลายน้ำ

การฟื้นฟูลำน้ำในบริเวณพื้นที่ปลายน้ำก็จะแบ่งเป็นการฟื้นฟูระบบของลำน้ำหลักและลำน้ำย่อย แนวทางการจัดการหลักในบริเวณพื้นที่ปลายน้ำจะเกี่ยวข้องกับการนำโครงสร้างที่ขวางการเกิดกระบวนการทางธรรมชาติออกไป หรือเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของโครงสร้างให้สามารถเอื้อต่อการใช้งานแต่ยังคงเกิดกระบวนการการไหลของน้ำได้โดยปกติ โดยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์มากที่สุด เป็นพื้นที่เมืองทั้งบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยและเมืองใหม่บริเวณริมแม่น้ำยมที่ต่อเนื่องไปยังเมืองเก่าสุโขทัยผ่านถนนเส้นทางหลวง ดังนั้นการขยายตัวของเมืองก็จะมีผลกระทบต่อคลองแม่รำพันเป็นส่วนมากทั้งทางตรงและทางอ้อม และในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นนาข้าวเช่นกันในบริเวณทะเลหลวง ดังนั้นการจัดการของโครงสร้างในแม่น้ำบริเวณคลองแม่รำพันในพื้นที่ปลายน้ำก็จะต้องคำนึงถึงการจัดการน้ำหรือการกักเก็บน้ำฝนที่เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่เมืองที่ชุมชนจะใช้ทรัพยากรน้ำในการอุปโภคบริโภคกับพื้นที่เกษตรกรรมตามฤดูกาลที่เป็นบริเวณนาข้าวและไม่ส่งผลกระทบต่อพลวัตของน้ำที่เกิดขึ้นภายในคลองแม่รำพัน การจัดการน้ำในอดีตของพื้นที่ปลายน้ำนี้ก็มีการจัดการหลากหลายแบบเนื่องจากมีความเจริญทางด้านวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ส่งผลถึงการสร้างคันดิน คูเมือง เหมืองฝายและสรีดภงส์เพื่อกักเก็บน้ำจากน้ำฝนและน้ำบนภูเขามาใช้ในการดำรงชีวิต ซึ่งการสร้างโครงสร้างดังกล่าวเป็นวัสดุธรรมชาติและไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อระบบการไหลของคลองแม่รำพันเช่นเดียวกับการสร้างโครงสร้างในปัจจุบัน ดังนั้นก็จะเป็นการจัดการนำโครงสร้างในคลองแม่รำพันออกหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้มีลักษณะที่ขัดขวางพลวัตน้อยที่สุดในบริเวณที่เป็นพื้นที่สาธารณะเนื่องจากในบางบริเวณก็จะติดกับพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์ของเอกชนทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ก็จะต่อเนื่องไปยังการปรับปรุงคันดินในบริเวณที่ถมเหลื่อมล้ำลงไปยังระยะของพืชชายน้ำรวมถึงพื้นที่ถมดินอื่น ๆ ไม่ว่าจะถมเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยล้ำลงมาในแม่น้ำหรือถมเพื่อป้องกันน้ำท่วมตามพลวัตปกติ เพื่อปรับดินในท้องน้ำของแม่รำพันรวมถึงดินในบริเวณพื้นที่รอบข้างใหม่ ซึ่งการถมดินและการสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเข้ามาในระยะของแม่น้ำจะพบมากที่สุดในพื้นที่เมือง ทำให้การจัดการบริเวณท้องน้ำในช่วงปลายน้ำก็คำนึงถึงปริมาณตะกอนดินและหินกรวดแม่น้ำขนาดเล็กหรือขนาดที่ละเอียดซึ่งมีความแตกต่างกับบริเวณอื่น ๆ โดยจะมีความละเอียดของอนุภาคมากที่สุด ดังนั้นในบริเวณนี้ก็จะมีการตกตะตอนของตะกอนละเอียดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญในพื้นที่เกษตรกรรมทั้งนาข้าวและพืชสวน การปรับระบบการไหลก็จะทำให้ตะกอนชนิดเดิมในแม่น้ำกลับมาส่งผลถึงโครงสร้างของแม่น้ำที่จะกลับมาโดยเฉพาะบริเวณหาดแม่น้ำ ผลที่ได้จากการจัดการเหล่านี้ก็จะทำให้วงจรน้ำท่วมหรือชีพจรน้ำท่วมในบริเวณนี้กลับมา มีการส่งผ่านตะกอนที่รวมถึงแร่ธาตุ สารอาหารที่มากับตะกอนทำให้พื้นที่นาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรมพืชสวนมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

พื้นที่ปลายน้ำของคลองแม่รำพัน เป็นบริเวณของเมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งการฟื้นฟูคลองแม่รำพันจะช่วยในการส่งเสริมทั้งด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมให้กับชุมชนเมือง โดยจุดที่สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงคลองแม่รำพันจะเป็นการเชื่อมต่อในแง่ของมิติทางด้านประวัติศาสตร์ของคลองแม่รำพัน โดยพื้นที่ตัวอย่างมีทั้งหมด 3 จุดคือ จุดตัดถนนพระร่วง ทำนบ 7อ บารายโบราณ และประตูกำแพงหัก

บริเวณแรกคือจุดตัดระหว่างถนนพระร่วงกับคลองแม่รำพัน ถนนพระร่วงเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังเมืองศรีสัชนาลัยในรูปแบบของถนน คันดิน และคู มีความสำคัญด้านการค้าและระบบชลประทานในสุโขทัย

ดังนั้นในบริเวณจุดตัดนี้ก็จะเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงคลองแม่รำพันและระลึกถึงถนนพระร่วงกับคลองแม่รำพันสมัยสุโขทัย ให้คนได้เข้าไปใช้งานพื้นที่รวมถึงเรียนรู้เส้นทางประวัติศาสตร์ของถนนพระร่วง ในจุดแรกก็จะเป็นบริเวณทางเดินยกพื้นที่ที่ต่อเนื่องไปตามเส้นทางเดินริมแม่น้ำซึ่งเชื่อมต่อไปยังเส้นทางเดินหาดแม่น้ำ

ซึ่งจากเส้นทางเดินหาดแม่น้ำจะสามารถมองเห็นสะพานที่เป็นแนวของถนนพระร่วงกับคลองแม่รำพันที่ตัดกันพอดี แต่ในปัจจุบันมีการก่อสร้างถนนเส้นทางหลวงทับบนแนวของถนนพระร่วงเดิม ดังนั้นเพื่อที่จะเน้นแนวถนนพระร่วงจะมีการปลูกแนวหญ้าแฝกตลอดทั้ง 2 ฝั่งของถนนให้สามารถสื่อถึงถนนพระร่วงเป็นสัญลักษณ์ให้ระลึกถึงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และภาพของสะพานสมัยสุโขทัยที่พาดผ่านคลองแม่รำพันเชื่อมต่อไปยังอีกฝั่งหนึ่งของเมืองสุโขทัย

 

รวมถึงยังมีเส้นทางเดินริมแม่น้ำริมคลองแม่รำพันที่เป็นเส้นทางเดินทางจักรยานให้สามารถศึกษาการฟื้นฟูคลองแม่รำพันในแต่ละขั้นตอนและความสัมพันธ์กับชุมชนได้ตลอดแนวคลอง ซึ่งในแต่ละปีก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในด้านพลวัตทางธรรมชาติของคลองแม่รำพันและในด้านสังคมและวัฒนธรรมที่ชุมชนมีต่อคลองแม่รำพัน

ในบริเวณต่อมาก็จะเป็นฝั่งด้านตรงข้ามการจุดเข้าถึงคลองแม่รำพันเดิม โดยสามารถใช้เส้นทางเดินหาดแม่น้ำในการเดินเชื่อมมาในบริเวณฝั่งนี้

ซึ่งในบริเวณจุดนี้ก็สามารถเปิดมุมมองเข้าหาจุดตัดระหว่างคลองแม่รำพันกับถนนพระร่วงได้เช่นกันในมุมมองที่ต่างออกไป จะทำให้เห็นภาพความสัมพันธ์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่เห็นชุมชนด้านหลังมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องไปจากคลองแม่รำพันและถนนพระร่วงด้วย เส้นทางเดินยกพื้นไม้นี้ก็จะเชื่อมกับเส้นทางเดินหลักของชุมชนเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริเวณหาดแม่น้ำคลองแม่รำพันเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ในบริเวณถัดมาคือจุดของคันดินทำนบ 7อ ซึ่งในสมัยสุโขทัยคันดินนี้มีข้อสันนิษฐานในการสร้างคันดิน 3 ทางเพื่อกักเก็บน้ำสมัยสุโขทัย วัดพระพายหลวง รวมถึงบางส่วนจากคลองแม่รำพันตามระบบชลประทานสุโขทัยโดยคันดินทั้ง 3 ฝั่งจะมีความสูงในระดับที่ไม่เท่ากันเพราะดินมีความลาดเอียงตามลักษณะภูมิประเทศ โดยจะมีระดับพื้นที่ลาดลงไปตามทิศตะวันออกจากเทือกเขาประทักษ์ลาดลงไปทะเลหลวง

เพื่อเสนอข้อสันนิษฐานดังกล่าว จึงเสมอมุมมองจากบริเวณวัดขโผงผีซึ่งเป็นโบราณสถานที่ต่อเนื่องจากทางเข้าถนนหลักที่เชื่อมมาจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและวัดพระพายหลวง พื้นที่ดังกล่าวจึงถูกออกแบบให้สามารถกรอบมุมมองให้เห็นโบราณสถานคันดินได้ทั้ง 3 ทาง

ในปัจจุบันอาจไม่มีการใช้บริเวณนี้เป็นจุดกักเก็บน้ำแล้ว ดังนั้นจึงจะใช้พื้นที่นาข้าวที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่เดือนเพื่อสื่อเชิงสัญลักษณ์ในเรื่องฤดูกาลและการกักเก็บน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตน้ำและแสดงถึงการใช้ประโยชน์จากคลองแม่รำพันผ่านโบราณสถานคันดินทำนบ 7อ ซึ่งลักษณะของนาข้าวก็จะมีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในแต่จะช่วงทั้งหน้าแล้งและหน้าน้ำโดยจะสัมพันธ์กับสีของนาข้าวที่เปลี่ยนจากเขียวอ่อนเป็นเขียวสด และเป็นสีเหลืองทองตามลำดับ

นอกจากนี้ ตามแนวคันดินก็จะมีหอสังเกตการณ์ที่มีความสูงอยู่เหนือคันดิน เพื่อจะได้มองเห็นคันดินในจุดต่าง ๆ อยู่ตลอดทางเดินริมคันดินตามจุดที่เห็นมุมมองที่สำคัญ

ซึ่งเมื่อขึ้นไปมองบนหอสังเกตการณ์ก็จะเห็นองค์ประกอบของคันดินบารายได้กว้างขึ้นรวมถึงความเป็นคันดิน 3 ทางที่ใช้ในการกักเก็บน้ำที่กรอบพื้นที่จนเห็นเป็นบารายได้ชัดเจน

 

ในบริเวณสุดท้ายเป็นพื้นที่คูเมืองของเมืองเก่าสุโขทัยหรือประตูกำแพงหัก ซึ่งจะแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคูเมืองที่ถูกทิ้งร้างตามการย้ายเมืองกับคลองแม่รำพัน ซึ่งในอดีตคูเมืองมี 3 ชั้นที่เรียกว่า ตรีบูร แต่เมื่อถูกกัดเซาะจากคลองแม่รำพันไปจึงเหลือเพียง 2 ชั้น ดังนั้นการออกแบบก็ฟื้นแนวคูเมืองด้านนอกให้กลับมาโดยการสร้างเป็นร่องลึกลงไปตามแนวคูเมืองเดิม ให้สื่อถึงการมีอยู่ของแนวคูเมืองชั้นนอกสมัยสุโขทัย โดยจะมีพื้นที่สังเกตการณ์ทั้งหมด 2 บริเวณ ตามพื้นที่ที่กัดเซาะคูเมือง ซึ่งจุดสังเกตการณ์นี้ก็จะเห็นมุมมองของทั้งแนวคลองคูเมืองเดิมที่ยังคงอยู่กับแนวคูเมืองที่หายไป ให้เห็นภาพของอดีตและปัจจุบันร่วมกัน

ในบริเวณนี้เป็นจุดสังเกตการณ์แรกของจุดที่ตัดกันระหว่างคลองกับคูเมือง ซึ่งก็จะมองเห็นแนวคูเมืองกับคลองแม่รำพันที่มีระบบของน้ำที่แตกต่างกัน โดยในคูเมืองจะเป็นระบบน้ำนิ่งเนื่องจากเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจึงไม่ได้เกิดการไหลเวียนในระบบนอกเหนือจากการไหลรวมกันของน้ำฝนจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยซึ่งแตกต่างจากคลองแม่รำพันที่เป็นระบบน้ำไหลที่มีน้ำเคลื่อนไหวตลอดเวลาตามพลวัตของน้ำทำให้ระบบนิเวศและพืชพรรณของทั้งคูเมืองและคลองแม่รำพันมีความแตกต่างกัน ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมินิเวศที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ตามพลวัตของคลองดังนั้นอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างคูเมืองและโครงสร้างคลองแม่รำพันได้

ในบริเวณพื้นที่สังเกตการณ์ที่ 2 ก็จะเป็นบริเวณที่คลองแม่รำพันกัดเซาะไปในคูเมืองเช่นกัน แต่ในบริเวณนี้คลองมีการกินเข้าไปในคูเมืองทำให้ระบบของน้ำในคูเมืองกับคลองแม่รำพันรวมกัน ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตในคูเมือง