โครงการวิทยานิพนธ์นี้มีที่มาและความสำคัญจากการเป็นสุสานเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับแรงงานรถไฟสายใต้ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในหาดใหญ่ ซึ่งในเวลาต่อมาคือกลุ่มบุคคลผู้สร้างความเจริญที่สำคัญแก่หาดใหญ่ การเป็นสุสานที่ตั้งอยู่คู่กับชุมชนบ้านพรุมาอย่างยาวนานจนเกิดเป็นความผูกพันแก่คนในพื้นที่ ในเวลาต่อมาเมื่อชุมชนเมืองได้ขยายตัว ทำให้รอบ ๆ พื้นที่สุสานกลายเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง สุสานกลายเป็นพื้นที่ว่างขนาดใหญ่แก่ชุมชนโดยรอบ แต่เป็นที่น่าเสียโอกาสที่สุสานจีนแห่งนี้เปิดต้อนรับผู้คนเป็นหลัก เพียงช่วงเทศกาลเช็งเม้งเท่านั้น ในเวลาปกติก็กลายเป็นพื้นที่รกร้าง ไม่เกิดการใช้งานใด ๆ กับพื้นที่ว่างใหญ่โตที่สามารถใช้งานอย่างอื่นได้ในเวลาปกติ นอกจากบริบทโดยตรงแล้ว บริบททางอ้อมของสุสานจีนในปัจจุบัน พบว่าคนส่วนใหญ่มองการฌาปนกิจแบบตามประเพณีเป็นเรื่องที่สิ้นเปลือง มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก คนรุ่นใหม่จึงต้องการสถานที่รองรับการฌาปนกิจที่เรียบง่ายและประหยัดมากขึ้น เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยจะพบว่าการสร้างสุสานจีน คือ การทำลายพื้นที่ภูเขาทั้งลูก จนกลายเป็นภูเขาหัวล้าน ไม่มีต้นไม้ให้ความร่มเย็น
ที่ตั้งโครงการระดับมหภาค ในเทศบางเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
การศึกษาพื้นที่สาธารณะในอำเภอหาดใหญ่ และศักยภาพของสุสานบ้านพรุ เพื่อการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะระดับย่าน
จากที่มาและความสำคัญที่ทั้งหมดที่กล่าวไป จึงนำไปสู่การตั้งวัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์นี้ไว้ 3 ข้อหลัก ได้แก่ การปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสร้างสถานที่แห่งความทรงจำ ในแง่การอนุรักษ์มรดกเชิงวัฒนธรรมและแสดงความกตัญญูต่อชาวจีนผู้สร้างหาดใหญ่ การออกแบบวางผังเพื่อบูรณาการเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่แก่เทศบาลเมืองบ้านพรุและเทศบาลนครหาดใหญ่ และการสร้างพื้นที่สีเขียวฟื้นฟูความร่มเย็นแก่พื้นที่ และส่วนสุดท้ายคือการออกแบบสุสานยุคใหม่ที่รองรับแนวคิดการฌาปนกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มคนรุ่นใหม่
ในส่วนการออกแบบ ได้ทำการศึกษาทั้งการวิเคราะห์พื้นที่ วิเคราะห์ผู้ใช้งานและความต้องการของมูลนิธิเจ้าของโครงการ ลงมาสู่แนวคิดการออกแบบภาพรวมที่ใช้ชื่อว่า เปลวจีน เปลวไลฟ์ คือการสร้างความสมดุลระหว่างส่วนฌาปนกิจและกิจกรรมนันทนาการ ด้วยกลยุทธ์วิธีออกแบบ 3 ข้อ ได้แก่
1. กลยุทธ์ที่ 1 การสะท้อนหลักฮวงจุ้ยตามคติความเชื่อเดิม ผ่านการศึกษาองค์ประกอบของทิศทั้ง 4 ทิศ คือ เต่าดำ มังกรเขียว หงส์แดงและเสือขาว และ ระบบจักรวาลวิทยาที่ใช้แนวคิดการวางผังเมืองในรูปแบบกริดตารางและการให้ลำดับความสำคัญ สะท้อนลงมาตั้งแต่ระดับการวางชัยภูมิ ผังเมือง และหลุมศพ
2. กลยุทธ์ที่ 2 การสะท้อนผังเมืองคนเป็นมาสู่ผังเมืองคนตาย คือ ถนนประวัติศาสตร์หาดใหญ่ ปี พ.ศ. 2460 บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1,2,3 ที่มีการตัดในรูปแบบกริดตาราง ประกอบด้วยถนนเส้นหลัก 3 เส้น เส้นรอง 9 เส้น โดยขุนนิพัทธ์จีนนครซึ่งเป็นหัวหน้าแรงชาวจีน และยังเป็นผู้บริจาคสร้างสุสานแห่งนี้อีกด้วย แนวทางการสะท้อนนี้ สะท้อนผ่านการใช้ศิลปะติดตั้ง (installation art) ด้วยแนวรั้วและใช้สีตามหลักปากั้ว 8 สี ซึ่งนอกจากมีความหมายในแง่ความมงคลจีนแล้ว ในแง่ประโยชน์คือช่วยให้สามารถจดจำหลุมที่ฝังได้ง่ายขึ้น ช่วยลดทอนระยะเวลาค้นหาหลุมที่ฝัง
3. กลยุทธ์ที่ 3 การฟื้นฟูพื้นที่โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อสร้างความร่มรื่นในการใช้งานตลอดปี โดยไม่ให้ขัดกับหลักความเชื่อเดิมในสุสาน
ผังพัฒนาสุสานบ้านพรุขั้นสุดท้าย ในระยะเวลา 20 ปี
ไดอาแกรมแสดงแนวคิดการออกแบบ การจัดการพื้นที่ ทางสัญจร ความปลอดภัย ทั้งส่วนนันทนาการและฌาปนกิจ
พื้นที่โครงการสามารถแบ่งรายละเอียดได้ 3 จุด จุดแรกบริเวณทางเข้าโครงการฝั่งตะวันตก ซึ่งติดต่อกับถนนเพชรเกษม ในพื้นที่เดิมประกอบด้วยลานจอดรถดาดแข็งคอนกรีตขนาดใหญ่ ศาลเจ้าแป๊ะกงเก่า 2 หลัง และหลุมศพเก่าที่มีความหลากหลายทางรูปแบบสถาปัตยกรรมหลุม ทั้ง 2 ส่วนนี้มีอายุเก่าแก่กว่า 70-80 ปี ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญในคุณค่ามรดกเชิงวัฒนธรรม บริเวณนี้จึงเน้นการปรับภูมิทัศน์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ จากเดิมที่สุสานเน้นการปิดทึบไม่ต้อนรับคนด้วยการใช้แนวอโศกอินเดียตลอดแนวรั้ว นำไปสู่การออกแบบพื้นที่เพื่อเปิดรับคนนอกทั้งการสร้างการเข้าถึงแต่ละจุด โดยคำนึงถึงการสอดรับกับทิศหงส์แดงตามหลักฮวงจุ้ย ทั้งใช้องค์ประกอบพื้นที่เปิดโล่งและแหล่งน้ำ สะท้อนมายัง องค์ประกอบลานพลาซาเปิดโล่งบริเวณศาลเจ้าเก่า บริเวณหลุมศพประธานเพื่อสร้างความสำคัญด้วยการวางแนวแกน การสร้างสระเก็บน้ำเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมนันทนาการควบคู่กัน โดยสรุปแล้วบริเวณทางเข้าจุดนี้เนื่องจากเข้าถึงได้ง่าย จึงเน้นกิจกรรมนันทนาการแบบออกแรงเป็นหลัก ส่วนองค์ประกอบฌาปนกิจเดิมเน้นการปรับภูมิทัศน์ของเก่าในเชิงการอนุรักษ์และให้ความสำคัญ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มาใช้งานเห็นความสำคัญและประวัติศาสตร์ของสุสานมากขึ้น
ผังขยายไอโซเมตริก แสดงแนวคิดการออกแบบและระบบสัญจรบริเวณประตูทิศใต้
ผังขยายไอโซเมตริก แสดงบรรยากาศภาพรวมบริเวณประตูทิศใต้
ทัศนียภาพมุมสูงบริเวณประตูทิศใต้
ทัศนียภาพมุมสูงบริเวณประตูกลาง
ทัศนียภาพบริเวณพิพิธภัณฑ์หลุมศพเก่ากลางแจ้ง
ทัศนียภาพบริเวณลานพลาซาสู่ศาลเจ้าแป๊ะกง และพื้นที่พักผ่อนแบบคลายแรง
จุดที่ 2 บริเวณทิศเหนือ ใช้ชื่อว่าสุสานริมทะเลสาบ สัมพันธ์กับทิศมังกรเขียว ประกอบด้วยแหล่งน้ำ ความพลิ้วไหว และเนินต่ำแคบ ๆ จุดนี้เป็นส่วนที่ดินเปล่าของมูลนิธิที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาและเป็นจุดที่ต่ำ จึงใช้กลยุทธ์การออกแบบส่วนกักเก็บน้ำโดยใช้องค์ประกอบตามรูปแบบสวนจีนประเพณีในอดีตมาใช้ เน้นการตอบรับกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการหวนระลึกถึงบรรพชนจีนในอดีต ซึ่งประกอบด้วยส่วนฌาปนกิจบรรจุศพในหลุมศพ บรรจุอัฐิในกำแพงและในอาคารสะท้อนเนินต่ำแคบ ๆ ในส่วนกิจกรรมนันทนาการแบบคลายแรงเน้นบรรยากาศร่มรื่นจากพืชพรรณพริ้วไหวที่หลากหลายเรียงรายรอบแหล่งน้ำ เช่น กิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง กิจกรรมชมรมท้องถิ่น กิจกรรมการวิ่งปั่นจักรยานจากทางสัญจรบริการฌาปนกิจ
ผังไอโซเมตริกขยายแสดงแนวคิดการออกแบบและระบบสัญจรบริเวณสุสานริมทะเลสาบฝั่งตะวันออก
ผังไอโซเมตริกขยายแสดงบรรยากาศภาพรวมบริเวณสุสานริมทะเลสาบฝั่งตะวันออก
ทัศนียภาพมุมสูงภาพรวมบริเวณทะเลสาบคลองเตย
ทัศนียภาพบริเวณรอบทะเลสาบคลองเตยซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมริมทะเลสาบและส่วนฌาปนกิจ
ทัศนียภาพบริเวณสุสานสัตว์เลี้ยง
ทัศนียภาพบริเวณจุดพักคอยหลัก เผยให้เห็นหลุมศพระยะหน้า ไล่ไปสู่อาคารบรรจุอัฐิทรงจีนเบื้องหลัง
จุดที่ 3 บริเวณทิศใต้และตะวันออก ใช้ชื่อว่าสุสานเนินเขา สัมพันธ์กับทิศเสือขาวและเต่าดำ ประกอบด้วยความหยุดนิ่ง เนินต่ำกว้าง และภูเขาสูง จุดนี้เป็นส่วนที่ดินเปล่าของมูลนิธิที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาและเป็นจุดที่สูงกว่าจุดก่อนหน้า จึงใช้กลยุทธ์การออกแบบที่อิงมาจากคติการสร้างเมืองใต้ดิน การสร้างปิรามิดของชาวจีนในอดีต มาปรับรูปแบบสมัยใหม่เพื่อตอบรับกับปริมาณการฌาปนกิจที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ตอบรับกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการการฌาปนกิจที่ประหยัดและเรียบง่ายมากขึ้น ประกอบด้วยอาคารบรรจุศพตามตั้ง อาคารบรรจุอัฐิสะท้อนเนินเขาและภูเขา โดยมีการใช้สวนหลังคา เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งานและถ่ายเทปริมาณคนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ในขณะที่เวลาปกติสามารถรอบรับกิจกรรมนัทนาการเปิดโล่งต่าง ๆ แก่ประชาชนทั่วไป เช่น การเล่นว่าว การปิกนิก นอกจากนี้ในจุดนี้ยังสามารถรับชมดวงอาทิตย์อัสดงได้ดีที่สุดในโครงการเนื่องจากเป็นจุดที่สูง จึงสามารถเห็นแนวเทือกเขาฝั่งตรงข้ามและตัวเมืองหาดใหญ่ได้อย่างชัดเจน สะท้อนการเชื่อมต่อระหว่างเมืองคนและเมืองคนตาย
ผังไอโซเมตริกขยายแสดงแนวคิดการออกแบบและระบบสัญจรบริเวณสุสานเนินเขาทางฝั่งตะวันตก
ผังไอโซเมตริกขยายแสดงบรรยากาศภาพรวมบริเวณสุสานเนินเขาทางฝั่งตะวันตก
ทัศนียภาพภาพรวมมุมสูงบริเวณส่วนอาคารบรรจุศพตามตั้งและอาคารบรรจุอัฐิสวนเนินเขา
ทัศนียภาพบริเวณอาคารบรรจุอัฐิสวนเนินเขา
ทัศนียภาพบริเวณภายในอาคารบรรจุศพตามตั้ง
ทัศนียภาพภาพรวมมุมสูงบริเวณสุสานเนินเขาทางฝั่งตะวันออกเชื่อมต่อไปยังอาคารบรรจุอัฐิมหาบรรพต
ทัศนียภาพภาพยามเย็นบนสวนหลังคาอาคารบรรจุอัฐิมหาบรรพต
โดยสรุปแล้ว โครงการออกแบบวางผังและปรับปรุงภูมิทัศน์สุสานบ้านพรุ จากเดิมที่เป็นสถานที่น่ากลัว ร้อน ไม่มีคนเข้าไปใช้งานในเวลาปกติ นำไปสู่สุสานยุคใหม่ที่ตอบรับแนวคิดต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นสุสานตามหลักฮวงจุ้ย มีความเป็นหาดใหญ่ และมีความยั่งยืน จึงกล่าวได้ว่าสุสานแห่งนี้จะเป็นพื้นที่กลางสำหรับการบูรณาการระหว่างส่วนฌาปนกิจและนันทนาการที่สำคัญของภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นการตอบโจทย์ทุกภาคส่วน ทั้งจากส่วนเจ้าของโครงการที่สามารถขายส่วนฌาปนกิจได้เพิ่มเติมและได้ให้ประโยชน์แก่สังคม จากส่วนลูกค้าที่สามารถซื้อส่วนการฌาปนกิจที่มีราคาลดลงและมีทางเลือกที่หลากหลายกว่า และจากส่วนประชาชนและหน่วยงานเทศบาล ที่ได้พื้นสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจในเมืองเพิ่มขึ้น.