โครงการออกแบบรีสอร์ทห้าดาว โฟร์ซีซั่นส์ กระบี่ จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ขนาด 52 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งพื้นที่โครงการติดกับถนน 1003 ซึ่งต่อมาจากทางหลวงหมายเลข 4 ที่เป็นทางหลักในการเดินทางจากกทม. เชื่อมกับจังหวัดในภาคใต้รวมถึงกระบี่ ภายในพื้นที่โครงการยังมีพืชพื้นถิ่นประกอบภายในสวนปาล์ม ติดกับภูเขา และมีพื้นที่แอ่งรับน้ำช่วงฤดูมรสุม จึงค่อนข้างมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นโครงการสถานพักตากอากาศท่ามกลางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศจังหวัดกระบี่
การออกแบบโครงการจะต้องคำนึงทั้งสภาพพื้นที่โครงการ และหลักปรัชญาของเครือ Four Seasons Hotels & Resorts และแนวทางการออกแบบของ BENSLEY STUDIO ซึ่งเป็นสตูดิโอที่ได้ทำการออกแบบด้านภูมิสถาปัตยกรรมให้กับรีสอร์ท Four Seasons ภายในประเทศไทยทั้ง 3 พื้นที่ ซึ่งจะเน้นด้านสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์และการลดผลกระทบ รวมถึงการให้บรรยากาศเดิมของพื้นที่ และด้านวัฒนธรรมชุมชน คำนึงถึงการเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์ และการอนุรักษ์วัฒนธรรมเดิม ทั้งยังให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับโครงการด้วย จึงนำมาผนวกกับบริบทเดิมของพื้นที่โครงการ เพื่อมอบบรรยากาศ ความสะดวกสบายในการเป็นสถานพักผ่อน ความเป็นส่วนตัว ความหรูหรา และคำนึงถึงความสำคัญของธรรมชาติและวัฒนธรรม จากการวิเคราะห์ข้อมูลกรณีศึกษารีสอร์ทภายในเครือ Four Seasons ที่มีบริบทใกล้เคียงกันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
แนวคิดในการออกแบบโครงการ คือ “Reflection of Krabi” ที่จะสะท้อนส่วนของวัฒนธรรมชุมชน สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นใต้ไทยมุสลิม เรื่องการแบ่งชาย-หญิง การเน้นช่องแกนกลาง เป็นแนวคู่สมมาตร และศิลปะการแสดง เช่น โนราห์ รำรองเง็ง เรื่องการรำเป็นคนคู่ และหนังตะลุง ที่มีคนถือกับตัวตุ๊กตาเป็นคู่ รวมไปถึงแสง-เงา ที่ตกกระทบ และส่วนของธรรมชาติตำบลเขาคราม ที่ประกอบไปด้วยแนวภูเขามีเงาตกกระทบ และส่วนพื้นที่ธรรมชาติป่าต้นน้ำ เช่น ป่าพรุ-ป่าชายเลนที่มีน้ำสะท้อนเงาของภูเขา จึงเกิดเป็นแนวความคิดในการสะท้อนทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติของพื้นที่ตำบลเขาคราม และความเป็นกระบี่ออกมาในโครงการ
เมื่อนำผลจากการวิเคราะห์พื้นที่โครงการคือด้านของธรรมชาติ และการวิเคราะห์บริบทของส่วนประกอบโครงการและวัฒนธรรมชุมชน จึงสามารถแบ่งพื้นที่ตามรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานและสะท้อนบรรยากาศในรูปแบบต่าง ๆ ออกมา โดยทุกพื้นที่จะเน้นหันขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามความเชื่อของรูปแบบการวางอาคารของชาวมุสลิม และเพื่อรับมุมมองที่ดีและเพื่อเป็นการเคารพศักยภาพของธรรมชาติภูเขา ทั้งยังมีการดึงองค์ประกอบที่สำคัญ คือ บ่อน้ำสะท้อน โดยการตัดดินเพื่อปรับระดับให้เกิดร่องน้ำเข้ามารับพื้นที่ด้านทิศใต้มากขึ้น เสมือนเป็นต้นน้ำลำธารของธรรมชาติที่สะท้อนไปถึงป่าพรุและเป็นพื้นที่เปิดโล่งและวิวสำหรับอาคารพักผ่อน และมีการใช้พืชพันธุ์ในการบดบังสายตาจากแปลงที่ดินโดยรอบ
พื้นที่บริเวณทางเข้าโครงการ จะเน้นการออกแบบให้มีองค์ประกอบสำคัญบางอย่างภายในตัวโครงการออกมาต้อนรับบริเวณด้านหน้าริมถนน เพื่อแสดงเอกลักษณ์ของบรรยากาศให้ดูยิ่งใหญ่ ได้แก่ ภูเขาหินปูน จะมีการใช้เป็นหินเทียมเพื่อแสดงลักษณะภูเขา แนวต้นปาล์มน้ำมันมีเฟิร์นขึ้นตามลำต้น แสดงบริบทการใช้สอยของที่ดินโครงการเดิมซึ่งเป็นสวนปาล์มน้ำมัน หินกรวดลายแม่น้ำ แสดงเหมือนเป็นผืนน้ำที่อยู่ภายในโครงการ ด้านพืชพรรณจะมีการใช้ไม้พื้นถิ่นตลอดทั้งโครงการ ถัดจากทางเข้าจะเน้นการลดการรบกวนจากภายนอกและ Back of House สู่เส้นทางเข้าและบริเวณ Residence จึงมีการใช้ไม้เลื้อยบนกำแพงหิน ไม้ชั้นล่างในธรรมชาติป่าดิบชื้น เช่น พืชตระกูล เร่ว กระวาน ปาล์ม ขิงข่า ไผ่ เป็นต้น
พื้นที่ส่วนกลางหลัก จะคำนึงแกนตรงตั้งแต่ส่วนต้อนรับ Drop-off ผ่าน Lobby – All-day Dining – Buggy Drop-off – Pool Bar & Lounge – Main Pool – Lower Pool Deck ไปจนถึงบ่อหน่วงน้ำและภูเขา มีการออกแบบอาคารให้มีความ Grand เป็นอาคารแยกหลังเพื่อเลี่ยงข้อจำกัดทางด้านกฎหมายก่อสร้างอาคาร และเป็นคู่สมมาตรตามรูปแบบการสะท้อนวัฒนธรรมตามแนวความคิด สะท้อนบรรยากาศธรรมชาติพืชพรรณแบบผสมผสานระหว่างความเป็นป่าดิบชื้นกับหมู่บ้านเกษตรกรชาวกระบี่ ซึ่งมีพันธุ์ไม้เด่น คือ พืชตระกูลยาง ยางนา ตะแบก พะยอม และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น รวมไปถึงการใช้องค์ประกอบของหินและน้ำ ส่วนสระว่ายน้ำเป็นแบบ Infinity Edge เพื่อให้สระดูกว้างเชื่อมต่อกับบ่อน้ำธรรมชาติ บริเวณส่วนกลางยังเป็นพื้นที่หลักที่มีการใช้พืชทนน้ำท่วมขัง (Riparian Trees) ในช่วงหน้าน้ำ เพื่อให้บริเวณพื้นที่บ่อน้ำให้บรรยากาศแบบป่าพรุ ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีชื่อเสียงภายในตำบลเขาคราม และของฝั่งตะวันตกของพื้นที่จังหวัดกระบี่ ทั้งยังช่วยในการบดบังปลายสายตาบริเวณพื้นที่ข้างเคียงภายในโครงการ และเป็นฉากหลังเพื่อบดบังสายตาจากพื้นที่นอกโครงการอีกด้วย ส่วนชั้นล่างบริเวณอาคาร Lobby และ All-day Dining จะถูกซ่อนไว้เป็นส่วนบริการ เพื่อสะดวกแก่การแจกจ่ายทั้งผู้เข้าพักผ่านรถกอล์ฟไฟฟ้า และการบริการของพนักงานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ภายในโครงการ
ส่วนพื้นที่บริเวณห้องพัก Garden View Pavilion ตั้งอยู่ถัดจากส่วนกลางหลัก มาทางทิศตะวันออก เป็นบริเวณที่ออกแบบให้มีความเป็นหมู่บ้านของชาวเกษตรกรชาวกระบี่ และเล่าสะท้อนถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านในพื้นที่สมัยก่อน จะร่วมกันตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณริมแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จึงมีการออกแบบพืชพรรณให้เป็นพืชเกษตรประจำท้องถิ่น คือ ปาล์มน้ำมันกับไม้ยาง และพืชที่มีการเพาะพันธุ์โดยศูนย์ส่งเสริมเกษตรกร จังหวัดกระบี่ คือ พืชจำพวกกล้วยไม้ ซึ่งตัวอาคาร Pavilion จะอิงรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย มุสลิม ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของพื้นถิ่นใต้ และผสมผสานไปกับสถาปัตยกรรมแนว Modern ตามรูปแบบของ Four Seasons ส่วนบ่อต้นน้ำจะมีฝายชะลอเป็นแนวก้อนหิน ส่งไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นบริเวณ Mountain View Pavilion ชิดกับแนวริมบ่อน้ำสะท้อนภูเขาหินปูน โดยอาคาร Pavilion เป็นอาคารคู่แฝด 2 ชั้น ชั้นละ 2 ห้องพัก มีศาลาส่วนตัวมองไปยังวิวด้านหลังห้องพัก ขนาดห้องละ 70 ตารางเมตร มีรูปแบบห้องพักทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ 1) Garden View Pavilion จำนวนอาคาร 5 หลัง ทั้งหมด 20 ห้องพัก 2) Mountain View Pavilion จำนวนอาคาร 4 หลัง ทั้งหมด 16 ห้องพัก
พื้นที่ส่วนกลางรอง และห้องพัก Pool Villa เชื่อมต่อจากปลายถนนทางสัญจรหลักของโครงการ เป็นส่วนพื้นที่ที่มีการอนุรักษ์ลักษณะเด่นเดิมมผนวกกับรูปแบบของโครงการ Four Seasons Resort Golden Triangle นั่นคือพื้นที่ทุ่งหญ้าโล่งกว้าง เพียงแต่สำหรับโครงการที่กระบี่นี้ จะมีแนวภูเขาลูกโดดตั้งตระหง่านเป็นฉากหลังให้กับพื้นที่ฝั่งด้านในโครงการ และด้วยแนวความคิดในการสะท้อนวัฒนธรรมออกมาเป็นแกนสมมาตรคู่ จึงกำหนดส่วนกลางไว้บริเวณแบ่งกึ่งกลางของแปลงที่ดินโครงการ และกระจายห้องพักทั้ง 8 ยูนิต ยิงแกนออกไปยังแนวตั้งฉากกับภูเขา ซึ่งส่วนกลางรองนี้ จะประกอบไปด้วย Health Club Lobby – Meditation Court – Spas – Fitness – Yoga Pavilion มีทั้งหมด 2 ชั้น และถัดจากอาคารส่วนกลางมาทางทิศใต้ใกล้กับถนนหลัก จะเป็นร้านอาหาร Cooking Class ที่มีลานจัดงานเลี้ยง และสวนของเชฟ การออกแบบบรรยากาศพื้นที่ส่วนนี้จะเป็นแบบทุ่งหญ้าโล่ง สลับกับไม้พุ่มป่าดิบชื้น มีไม้เด่นคือ ต้นพะยอม เพื่อคุมสีบริเวณนี้ให้ดูสว่างไปกับทุ่งหญ้า โดยอาคาร Pool Villa เป็นอาคารสมมาตร มีศาลา Outdoor ขนาดข้างสระว่ายน้ำส่วนตัวซึ่งเชื่อมมาจากตัวอาคารหลัก มี 2 รูปแบบ คือ 1) One-Bedroom Pool Villa เป็นอาคารชั้นเดียว ขนาด 100 ตารางเมตร จำนวน 4 หลัง และ 2) Family Pool Villa เป็นอาคารสองชั้น 2 ห้องนอน ขนาด 120 ตารางเมตร จำนวน 4 หลัง
พื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำฝั่งตะวันตกของโครงการใกล้กับริมถนนสาธารณะ ซึ่งมีการออกแบบบรรยากาศเป็นป่าดิบชื้นเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับห้องพักราคาสูง คือ ห้องพัก Residence ให้บรรยากาศเขียวขจี และเช่นเดียวกับบริเวณหมู่บ้าน Pavilion พื้นที่บริเวณนี้มีการขุดร่องเป็นป่าต้นน้ำท่ามกลางป่าดิบชื้น เพื่อสะท้อนความเป็นธรรมชาติของจังหวัดกระบี่ มาในรูปแบบของบรรยากาศความเป็นส่วนตัวใกล้ชิดกับอาคารห้องพัก พันธุ์ไม้เด่น ของบริเวณนี้ได้แก่ ต้นยางนา ทุ้งฟ้า กระบาก ไข่เขียว ตะเคียนชันตาแมว ตะแบก จิกนม ส่วนพืชชั้นล่างนั้นได้แก เจ้าเมืองตรัง เจ้าเมืองถลาง เร่ว ไผ่ เถาวัลย์ มีต้นที่สามารถบดบังในระดับสายตาและให้ความสวยงามของดอกได้แก่ ดาหลา ขิงข่า โคลงเคลง ฟ้ามุ่ย รวมไปถึงกลุ่มเฟิร์น มอสส์ทั้งหลายด้วย ด้านการใช้วัสดุจะเน้นความหรูหรา ความเป็นธรรมชาติ วัสดุค่อนข้างเงา สีเรียบ เช่น Cobble Stone หินเทียม รวมไปถึงองค์ประกอบจากอาคารพื้นบ้านกระบี่ เช่น กรงนกไม้ และโคมไฟรูปกรงนก โดยอาคาร Residence นั้นยังคงมีความสมมาตร มีขนาดใหญ่ ชั้นละ 1 ห้องพัก โดยจะมีทั้งหมด 2 รูปแบบ คือ 1) One-Bedroom Residence with Pool เป็นอาคาร 3 ชั้น มีจำนวนอาคาร 2 หลัง ทั้งหมด 6 ห้องพัก ขนาดห้องละ 240 ตารางเมตร และ 2) Two-Bedroom Residence with Pool เป็นอาคาร 2 ชั้น มีจำนวนอาคาร 2 หลัง ทั้งหมด 4 ห้องพัก ขนาดห้องละ 390 ตารางเมตร
พื้นที่ส่วนต่อจากป่าต้นน้ำป่าดิบชื้นลงมาตามแนวร่องน้ำทางทิศเหนือ ชิดกับริมบ่อหน่วงน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดที่มีการเปิดรับมุมมองที่ดีและสวยที่สุดของโครงการ แต่ยังคงมีความวิกฤตในด้านมุมมองจากภายนอก จึงทำให้ทั้งส่วนพื้นที่นี้และบริเวณป่าต้นน้ำ และพื้นที่ริมทางเข้าโครงการ จำเป็นต้องมีการใช้บรรยากาศธรรมชาติป่าดิบชื้น ตามแนวความคิดในการแบ่งพื้นที่โครงการ เพราะเป็นการแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้อย่างดีทั้งยังส่งเสริมบรรยากาศให้เป็นจุดขายของโครงการ คือ Residence Villa มีการออกแบบวัสดุ และพืชพรรณจะมีลักษณะเช่นเดียวกับบริเวณ Residence แต่บริเวณนี้จะชิดกับพื้นที่บ่อน้ำเปิดโล่งซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของโครงการ โดยจะมีการใช้ไม้ยางนาเป็นจุดเด่นที่สุด เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่แสดงเอกลักษณ์ของป่าดิบชื้นได้ดีที่สุด มีคุณค่า และทนต่อสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง รวมไปถึงยังสามารถสะท้อนความเป็นป่าพรุ เสมือนแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลเขาครามอาคารจะเป็นรูปแบบ Three-Bedroom Residence Villa with Pool โดยแต่ละยูนิตจะเป็นอาคาร 2 ชั้น มีทั้งหมด 2 ยูนิต ขนาดยูนิตละ 625 ตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาดอาคารที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถสร้างได้ตามข้อกฎหมายของพื้นที่