งานหัตถกรรมระดับพื้นถิ่นนั้น มีข้อดีในระดับชุมชนหลายด้านด้วยกัน อาทิ การสร้างรายได้ให้กับชุมชน การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการสร้างการเชื่อมต่อของผู้คนในสังคม แต่ทั้งนี้เอง งานหัตถกรรมพื้นถิ่นในปัจจุบันก็มีปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นปัจจัยที่ขัดขวางงานหัตถกรรมพื้นถิ่นในการพัฒนาและปรับตัวเข้ากับสมัยปัจจุบันได้ อาทิ การถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ การถูกลดคุณค่าของงานหัตถกรรมโดยการผลิตแบบ Mass product รวมถึงจำนวนช่างหัตถกรรมสมัยใหม่ที่มีจำนวนน้อยลงในปัจจุบัน โดยโครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ มุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาของงานหัตถกรรมพื้นถิ่่นโดยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนในแวดวงงานหัตถกรรมผ่านการออกแบบทางสถาปัตยกรรมอันประกอบไปด้วย ช่างงานหัตถกรรม ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว โดยสร้างพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มบุคคลต่างๆ ให้มากที่สุด
โดยแนวคิดในการออกแบบนั้น เริ่มต้นจากการสังเกตถึงการทำงานหัตถกรรมในระดับครัวเรือนที่มีการใช้ที่ว่างนอกอาคารเป็นพื้นที่หลักในการสร้างงานหัตถกรรม รวมถึงสัดส่วนของอาคารที่มีความเป็นมิตรต่อคนในชุมชน รวมถึงเชื้อเชิญให้ช่างหัตถกรรมสามารถเข้ามาทำงานและเยี่ยมชมได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยกจากบริบทของเขตพื้นที่อยู่อาศัยโดยรอบ การออกแบบโครงการนี้จึงยึดเอาลักษณะของ หมู่บ้านงานหัตถกรรม (Craft Village) เป็นแนวทางสำคัญในการออกแบบอาคาร ที่ว่าง และรายละเอียดในส่วนต่างๆ ของโครงการ
โดยโครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น จะถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วนเพื่อรองรับผู้ใช้งานหลักสามประเภทของโครงการ อันประกอบไปด้วยพื้นที่ส่วนปฏิบัติการงานหัตถกรรม (Workshop area) ที่รองรับช่างหัตถกรรมพื้นถิ่นและช่างหัตถกรรมร่วมสมัย พื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยว (Tourist are) ที่รองรับนักท่องเที่ยวที่สนใจงานหัตถกรรมและร้านค้าที่เกี่ยวข้อง และพื้นที่ส่วนสำนักงานและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถกรรม (Archive/Office area) สำหรับผู้ประกอบการด้านงานหัตถกรรมและผู้ที่สนใจ โดยพื้นที่แต่ละส่วนนั้นจะมีการจัดสรรพื้นที่ว่างระหว่างพื้นที่ที่แตกต่างกันตามการใช้งาน
ในพื้นที่ส่วนปฏิบัติการงานหัตถกรรมนั้น จะมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่ส่วนตามประเถทของงานหัตถกรรมท่องถิ่นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันประกอบไปด้วย งานทอ งานปั้น งานเหล็กและงานไม้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงกระบวนการทำงานหัตถกรรมประเภทต่างๆ จะสามารถจัดกลุ่มงานหัตถกรรมที่สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้ อาทิ งานปั้นและงานทอที่จำเป็นต้องมีส่วนตาก ก็จะมีการจัดสรรค์พื้นทีสำหรับตากชิ้นงานในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกันทั้งสองส่วน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันของช่างหัตถกรรมประเภทต่างๆ ให้สามารถทำงานร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความรู้ในงานหัตถกรรมประเภทนั้นๆ อันเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนางานหัตถกรรมให้ก้าวต่อไปได้ในอนาคต
ในพื้นที่ส่วนนักท่องเที่ยวนั้น จะประกอบไปด้วยพื้นที่ที่เอื้ออำนวยนักท่องเที่ยวและผู้ค้าเกี่ยวกับงานหัตถกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่สามารถทำให้งานหัตถกรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยประกอบไปด้วยพื้นที่หลักคือพื้นที่ส่วนปฏิบัติการนักท่องเที่ยว พื้นที่ร้านรวง และพื้นที่ส่วนจัดแสดง โดยมีการจัดสรรค์ให้ที่ว่างนั้นเป็นส่วนหนึ่งกับทางสัญจร โดยนักท่องเที่ยวสามารถรับชมเข้าถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้อย่างลื่นไหลไม่ติดขัด
ในพื้นที่ส่วนสำนักงานนั้น จะประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับผู้ดูแลโครงการ พื้นที่สำหรับผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจ โดยมีการจัดวางที่ว่างในการจัดกิจกรรมในวาระต่างๆ อาทิ งานจัดแสดงสินค้า งานสัมมนาต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความตระหนักรู้ในขอบเขตของงานหัตถกรรม รวมไปถึงสร้างแหล่งข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการความเข้าใจในธุรกิจและผู้ที่สนใจในงานหัตถกรรม
ทั้งนี้ ด้วยบริบทของโครงการที่อยู่ในบริเวณเขตที่อยู่อาศัยของอําเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงมีการจัดสรรค์ที่ว่างสำหรับเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้โครงการเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนโดยรอบ เป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้สำหรับประชาชนทั่วไป
ซึ่งโดยสรุปแล้ว โครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นจะมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงผู้คนที่เกี่ยวข้องทุกประเภทกับงานหัตถกรรมเอาไว้ด้วยกันผ่านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม สร้างความเชื่อมโยงและความเข้าใจอันเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้งานหัตถกรรมพื้นถิ่นสามารถดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันและสามารถพัฒนาต่อไปในอนาคตในอย่างยั่งยืน